ผลของโปรแกรมส่งเสริมการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกต่อการปฏิบัติของพยาบาลและการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะที่สัมพันธ์กับการคาสายสวนปัสสาวะในหอผู้ป่วยวิกฤตอายุรกรรม Effects of Clinical Practice Guideline Use Promotion on Nurses, Practices and Catheter - Associated Urinary Tract Infections in Medical Intensive Care Unit

ผู้แต่ง

  • ปัทมา วงษ์กียู้
  • วงเดือน สุวรรณคีรี
  • ณิชกานต์ ทรงไทย

คำสำคัญ:

ส่งเสริมการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิก การติดเชื้อ ในระบบทางเดินปัสสาวะที่สัมพันธ์กับการคาสายสวนปัสสาวะ ผู้ป่วยวิกฤต

บทคัดย่อ

 การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองวัดก่อนและหลังการทดลอง  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมการใช้              แนวปฏิบัติทางคลินิกต่อการปฏิบัติของพยาบาลและการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะที่สัมพันธ์กับการคาสายสวนปัสสาวะ  ในหอผู้ป่วยวิกฤตอายุรกรรม ที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎีการเผยแพร่นวตกรรมของโรเจอร์ กลุ่มตัวอย่างคือ พยาบาลที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยวิกฤต   อายุรกรรม จำนวน 18 คน และผู้ป่วยที่ใส่คาสายสวนปัสสาวะ 68 คน แบ่งเป็นกลุ่ม ก่อนและหลังการดำเนินการใช้โปรแกรมส่งเสริมการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิก กลุ่มละ 34 คน เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย คือ โปรแกรมส่งเสริมการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิก เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้ แบบสังเกตการปฏิบัติของพยาบาล และแบบบันทึกข้อมูลการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จํานวน 3 ท่าน ได้ค่าความตรงตามเนื้อหาของแบบสังเกตการปฏิบัติของพยาบาลวิชาชีพ เท่ากับ .94  และ   หาความเชื่อมั่นในการสังเกตและการวินิจฉัยการติดเชื้อได้ค่าเท่ากับ .96 และ 1 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าความถี่ ร้อยละ และแมคนีมาร์

             ผลการวิจัยพบว่าสัดส่วนการปฏิบัติของพยาบาลที่ถูกต้องในการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหลังการใช้โปรแกรมส่งเสริมการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิก (ร้อยละ 99.2) สูงกว่าก่อนการใช้โปรแกรมส่งเสริมการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิก (ร้อยละ 83.3) อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และพบอุบัติการณ์การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะสัมพันธ์กับการคาสายสวนปัสสาวะ ก่อนและหลังการใช้โปรแกรมส่งเสริมการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกเป็น 3.8 ครั้งและ 0 ครั้งต่อ 1,000 วันที่คาสายสวนปัสสาวะ ตามลำดับ การวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมส่งเสริมการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกส่งผลให้พยาบาลมีการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางคลินิกเพิ่มขึ้น และสามารถช่วยลดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะที่สัมพันธ์กับการคาสายสวนปัสสาวะได้ 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-06-28