ศึกษาประสิทธิผลการกดจุดด้วยตนเองและใช้สายรัดข้อมือเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน ในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด

ผู้แต่ง

  • อุบล จ๋วงพานิช
  • จุรีพร อุ่นบุญเรือน
  • จันทราพร ลุนลุด
  • อาทิตยา ประนัดสุดจ่า
  • ทิพวรรณ ขรรศร

คำสำคัญ:

Chemotherapy, Acupressure, Acupressure wrist band, nausea vomiting

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นวิจัยแบบกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาประสิทธิผลการกดจุดด้วยตนเองและใช้สายรัดข้อมือเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด   กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับ    ยาเคมีบำบัดตามเกณฑ์การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จำนวน  60 คน ในช่วงเดือน มกราคม 2555 – ธันวาคม  2555 โดยเลือกตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนดด้วยวิธีสุ่มเข้ากลุ่มแบบจับคู่เหมือน ตามชนิดของยาเคมีบำบัด แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มทดลอง (30คน) จะได้รับข้อมูลเรื่องการกดจุดด้วยตนเองและการใช้สายรัดข้อมือ หลังจากนั้นให้ผู้ป่วยกดจุดด้วยตนเองบริเวณ P 6  นาน 5 นาทีและใช้สายรัดข้อมือให้ปุ่มกดบริเวณ P 6  พอดี  โดยกดจุดก่อนให้ยาเคมีบำบัด 5 นาที และทุก 2 ชั่วโมง นาน 5 นาที  โดยกดจุดและใช้สายรัดข้อมือทุกวันตลอดระยะเวลาที่ให้ยาเคมีบำบัด กลุ่มทดลอง จะได้รับการประเมินข้อมูลพื้นฐาน ประเมินคลื่นไส้อาเจียน  ก่อนให้ยาเคมีบำบัดและหลังถอดสายออก 5 นาที และ ติดตามทางโทรศัพท์สัปดาห์ละครั้ง รวม 4 ครั้ง  กลุ่มควบคุม (30คน) ให้การพยาบาลตามปกติและประเมินเหมือนกลุ่มทดลอง  การวิเคราะห์ข้อมูล เปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนของอาการคลื่นไส้อาเจียนทั้งสองกลุ่มใช้สถิติ GEEและเปรียบเทียบความแตกต่างของจำนวนครั้งการคลื่นไส้อาเจียนทั้งสองกลุ่มโดย Repeat measures analysis of variance พบว่าคะแนนคลื่นไส้ อาเจียน ของกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มควบคุม เฉลี่ย 1.19 คะแนนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (P<0.001) ช่วงความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 อยู่ระหว่าง 0.71 ถึง 1.68 คะแนน   จำนวนครั้งของการคลื่นไส้ อาเจียนของกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มควบคุม เฉลี่ย 2.3 ครั้ง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (P<0.001) โดยมีช่วงความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 อยู่ระหว่าง 1.56 ถึง 3.04 ครั้ง

Downloads