ปัจจัยในระยะคลอดที่มีอิทธิพลต่อการไหลของน้ำนมมารดาหลังคลอด Intrapartum Factors Influencing Onset of Lactogenesis II After Delivery

ผู้แต่ง

  • ทิพาวรรณ สมจิตร
  • วรรณา พาหุวัฒนกร
  • ฉวีวรรณ อยู่สำราญ

บทคัดย่อ

การวิจัยความสัมพันธ์เชิงทำนายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของอายุมารดา ระดับความเจ็บปวด                ในระยะคลอด ระยะเวลาการคลอด ปริมาณยาออกซิโตซินที่ได้รับ และปริมาณการเสียเลือดในระยะคลอดต่อการไหลของน้ำนมมารดาหลังคลอด กลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาคลอดบุตรครั้งแรกด้วยการคลอดปกติที่มารับบริการในโรงพยาบาลอุดรธานี จำนวน 175 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย  แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล แบบบันทึกข้อมูลในระยะคลอด แบบบันทึกระดับความเจ็บปวดในระยะคลอด แบบบันทึกปริมาณยาออกซิโตซินที่ได้รับ  และแบบบันทึกการไหลของน้ำนมมารดาครั้งแรก วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา สถิติไคสแควร์ และสถิติถดถอยโลจิสติค

                         ผลการศึกษาพบว่า ร้อยละ 62.3 ของกลุ่มตัวอย่าง มีน้ำนมไหลใน 6 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เวลาเฉลี่ยของน้ำนมไหลครั้งแรก เท่ากับ 5 ชั่วโมง 36 นาทีหลังคลอด ซึ่งระยะเวลาการคลอดและปริมาณยาออกซิโตซินที่ได้รับมีความสัมพันธ์กับการไหลของน้ำนมมารดาใน 6 ชั่วโมงแรกหลังคลอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งนี้อายุมารดา ระดับความเจ็บปวดในระยะคลอด ระยะเวลาการคลอด ปริมาณยาออกซิโตซินที่ได้รับ และปริมาณการเสียเลือดในระยะคลอด สามารถร่วมกันทำนายการไหลของน้ำนมมารดาใน 6 ชั่วโมงแรกหลังคลอดได้ร้อยละ 13.4 (Nagelkerke R2 = .134, p < .001) โดยที่ระยะเวลาการคลอดและปริมาณยาออกซิโตซินที่ได้รับสามารถทำนายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (OR = 2.45, 95%CI : 1.21,4.99, p =.013 ; OR = 2.34, 95%CI : 1.22, 4.51, p =.011 ตามลำดับ )           

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-27