การพัฒนาโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เพื่อป้องกันโรคเรื้อรังของสตรีวัยกลางคนในชุมชนชนบท จังหวัดอุบลราชธานี The development of a health promotion program consistent with the lifestyle and culture to prevent chronic diseases of middle-aged women in the rural community Ubon Ratchathani Province

ผู้แต่ง

  • มณฑิชา รักศิลป์
  • บษพร วิรุณพันธุ์

บทคัดย่อ

การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคมุ่งเน้นการรักษาสุขภาพให้ดีขึ้น การสร้างเสริมสุขภาพช่วยให้บุคคลและชุมชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเพื่อป้องกันโรคเรื้อรังของสตรีวัยกลางคนในชุมชนชนบท จังหวัดอุบลราชธานี เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ แบ่งเป็น 2 ระยะดังนี้

ระยะที่ 1 สร้างโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมตามกรอบแนวคิด การสร้างเสริมสุขภาพของเพนเดอร์ และแนวคิดทฤษฎีการดูแลสุขภาพด้านวัฒนธรรมของไลน์นิงเจอร์ กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเฉพาะเจาะจงจำนวน 50 คน ประกอบด้วย ตัวแทนสตรีวัยกลางคน ทีมสหสาขาวิชาชีพ ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข เก็บข้อมูลโดยการใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา ผลการวิจัย ได้โปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพประกอบด้วย การให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง การจัดบริการเชิงรุก  การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออกกำลังกายโดยใช้ดนตรีพื้นเมืองสัปดาห์ละ 3 วัน จัดแหล่งประโยชน์ที่เอื้อต่อการออกกำลังกายในชุมชน การบันทึกภาวะสุขภาพ การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพวันละ 1 มื้อ การจัดให้มีบุคลต้นแบบในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

                ระยะที่ 2  ประเมินผลโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพเป็นวิจัยกึ่งทดลองสองกลุ่มประเมินผลหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่าง คือ สตรีวัยกลางคนอายุ 40-59 ปี แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและควบคุมกลุ่มละ 55 คนโดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่าง กลุ่มทดลองใช้โปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเพื่อป้องกันโรคเรื้อรังที่พัฒนาในระยะที่ 1 ระยะเวลา 6 เดือน และกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามมาตรฐานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลประกอบด้วย แบบประเมินพฤติกรรมการป้องกันโรคเรื้อรัง ดัชนีมวลกาย เส้นรอบเอว และคุณภาพชีวิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า หลังการใช้โปรแกรมสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการป้องกันโรคเรื้อรัง และคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น ส่วนค่าดัชนีมวลกาย และเส้นรอบเอว ลดลงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

                สรุป: โปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเพื่อป้องกันโรคเรื้อรังส่งผลต่อพฤติกรรมการป้องกันโรคเรื้อรัง  ผลลัพธ์ทางคลินิก และคุณภาพชีวิตของสตรีวัยกลางคน  

                ข้อเสนอแนะ: สถานบริการทางสุขภาพควรมีการจัดกิจกรรมรณรงค์การป้องกันและค้นหาบุคคลกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังในกลุ่มวัยกลางคนโดยการส่งเสริมการตรวจสุขภาพประจำปีเน้นการบริการในเชิงรุกในชุมชน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-06-28