การดำเนินงานเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • เกษร แถวโนนงิ้ว
  • เกษราวัลณ์ นิลวรางกูร
  • อารยา จันทร์ขวาง
  • จินตวัฒน์ บุญกาพิมพ์
  • กิตติพิชญ์ จันที

คำสำคัญ:

การเฝ้าระวังโรค โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลชุมชน

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงพรรณนามีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสภาพการดำเนินงานการเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลชุมชนสามจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาประกอบด้วยกลุ่มตัวอย่างที่ 1 คือ จำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาลซึ่งบุคลากรทางการแพทย์วินิจฉัยว่า เป็นโรคที่เข้าข่ายการเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมและรายงานเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังโรค จากโรงพยาบาลชุมชน 16 แห่งจำนวน 648 ราย เพื่อประเมินความไว ค่าการทำนายความถูกต้องของการรายงาน และความเป็นตัวแทนของข้อมูล และ 356 รายสำหรับประเมินความทันเวลาและคุณภาพของข้อมูล และกลุ่มตัวอย่างที่ 2 คือ ผู้ให้ข้อมูลเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังหรือผู้ใช้ข้อมูลคัดเลือกแบบเจาะจง จำนวน 60 คน ข้อมูลเชิงปริมาณเก็บรวบรวมข้อมูลจากการทบทวนเวชระเบียน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพเก็บรวบรวมโดยใช้การสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์เชิงลึก  การวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณ ใช้จำนวน ร้อยละ และ95% confidence interval  ใช้วิเคราะห์หาความไว ค่าการทำนายความถูกต้องของการรายงานความทันเวลา และความเป็นตัวแทนของจ้อมูล ส่วนการวิเคราะห์unweighted Cohen’s Kappa ใช้ความสอดคล้องของข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการศึกษาพบว่า ข้อมูลในระบบเฝ้าระวังสามารถอธิบายการเกิดเหตุการณ์ต่างๆในพื้นที่ได้เพียงร้อยละ 50.8  ความไวในการรายงานโรคค่อนข้างต่ำในบางโรค เพราะแพทย์ไม่วินิจฉัย  ส่วนคุณภาพของข้อมูลต่ำในบางตัวแปร เช่นการวินิจฉัยและอาการและอาการแสดง มีการรายงานโรคได้ทันเวลาเพียงร้อยละ 50   เจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการเฝ้าระวังโรคน้อยและทำหน้าที่เพียงเก็บข้อมูลนำส่งจังหวัดโดยไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลที่ได้จากการเฝ้าระวังยังไม่สามารถเป็นตัวแทนของการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ได้และไม่สามารถนำไปใช้ในการติดตามสถานการณ์การเกิดโรคภัยในพื้นที่ได้ นอกจากนี้พบว่าการสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่มีน้อย  บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังโรคขาดความรู้และรับรู้ว่าการเฝ้าระวังโรคเป็นการเพิ่มภาระในการทำงาน   การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าความไวในการรายงานโรคต่ำและความเป็นตัวแทนของข้อมูลยังไม่สามารถสะท้อนภาพการเจ็บป่วยในพื้นที่ได้ชัดเจน ดังนั้นมีความจำเป็นและเร่งด่วนที่ควรกระตุ้นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะพยาบาลซึ่งเป็นด่านแรกที่พบผู้ป่วย ว่าควรต้องรายงานโรคตามความเป็นจริง

Downloads