ประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงหลังคลอดที่ได้รับการดูแลในระยะคลอดจากพยาบาล ผดุงครรภ์

ผู้แต่ง

  • ศิริรัตน์ ศรีโพลา
  • วรรณี เดียวอิศเรศ
  • สุภาภรณ์ ด้วงแพง

คำสำคัญ:

ประสบการณ์ชีวิต การดูแลในระยะคลอด พยาบาลผดุงครรภ์

บทคัดย่อ

งานวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิง

ที่ได้รับการดูแลในระยะคลอดจากพยาบาลผดุงครรภ์ โดยศึกษาในหญิงหลังคลอดจำนวน 11 ราย ซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง  ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก โดยมีประเด็นหลักในการสัมภาษณ์คือประสบการณ์การคลอดและการดูแลที่ได้รับจากพยาบาลผดุงครรภ์ จนกระทั่งข้อมูลที่ได้มีความอิ่มตัวโดยใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยาการตีความตามแนวทางของแวน มาเนน (van Manen)

ผลการวิจัยได้ข้อค้นพบว่า ผู้หญิงที่ได้รับการดูแลในระยะคลอดจากพยาบาลผดุงครรภ์ให้

ความหมายของการดูแลที่ได้รับโดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ดูแลด้วยใจ คือความรู้สึกได้ถึงการพยาบาลที่กระทำด้วยความเต็มใจสนใจ ใส่ใจ เอื้ออาทร สร้างความรู้สึกอบอุ่นใจและปลอดภัย 2) ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง เป็นความรู้สึกของผู้หญิงถึงการดูแลที่เกิดขึ้นในระยะคลอด เช่น การถูกทอดทิ้งให้เผชิญความเจ็บปวดตามลำพัง การขาดความใส่ใจช่วยเหลือในระยะคลอด การได้รับข้อมูลที่ไม่เพียงพอ และการถูกดุด่าว่ากล่าว 3) เสมือนไร้ตัวตน เป็นการดูแลที่ขาดการเคารพในความเป็นบุคคล ขาดความเกรงใจ และ 4) เป็นผู้ยอมจำนน เป็นความรู้สึกของผู้หญิงที่อยู่ในระยะคลอดที่ต้องยอมปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือข้อห้ามที่พยาบาลผดุงครรภ์เป็นผู้กำหนดขึ้นในห้องคลอด รวมถึงการตกอยู่ในสภาพของการเป็นผู้ไร้อำนาจในการตัดสินใจ

ผลการศึกษานี้จะช่วยให้เข้าใจประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงที่ได้รับการดูแลในระยะคลอด

จากพยาบาลผดุงครรภ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับบุคลากรทางการพยาบาลที่ให้การดูแลผู้หญิงในระยะคลอดนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการดูแลในประเด็นของการคำนึงถึงความเป็นบุคคลและการส่งเสริมผู้คลอดให้มีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

Downloads