การพัฒนาแนวทางการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุม ระดับความดันโลหิตไม่ได้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสามพร้าว Development Stroke Prevention Guideline for Uncontrolled Hypertension Patients in SAM Phrao Health Promoting Hospital

ผู้แต่ง

  • วาสนา หน่อสีดา
  • วิลาวัณย์ ชมนิรัตน์

คำสำคัญ:

ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ได้, การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ได้ และพัฒนาแนวทางการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ได้ มีผู้ร่วมดำเนินการวิจัย ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ จำนวน 4 คน ผู้ป่วย จำนวน 20 คน ผู้ดูแล จำนวน 20 คน อสม. จำนวน 10 คน และผู้นำชุมชน จำนวน 2 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์กึ่งมีโครงสร้าง แนวทางการสนทนากลุ่ม และแนวทางการสังเกตแบบมีส่วนร่วม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ หาค่าความถี่และร้อยละ ข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา   ผลจากการวิจัยพบว่า 1) จากผู้ป่วยจำนวน 20 คนพบว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในระดับสูงมาก จำนวน 2 คน มีความเสี่ยงระดับเสี่ยงสูง จำนวน 4 คน มีความเสี่ยงระดับเสี่ยงปานกลาง จำนวน 9 คน และมีความเสี่ยงในระดับเสี่ยงน้อย จำนวน 5 คน จากการวิเคราะห์สถานการณ์พบว่าผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ยังไม่เหมาะสม แนวทางการดูแลและพัฒนาทักษะในการดูแลตนเองของผู้ป่วยยังไม่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยง  ระบบการติดตามประเมินภาวะเสี่ยงซ้ำไม่ชัดเจน รวมทั้งข้อมูลของผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงยังไม่มีการส่งต่อให้กับ อสม.ประจำหมู่บ้าน ด้านของชุมชนยังขาดแกนนำหรือเครือข่ายในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในชุมชน 2) การพัฒนาแนวทางการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ได้  มีการพัฒนาระบบข้อมูลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงแยกเป็นรายหมู่บ้านตามระดับความเสี่ยงและส่งต่อข้อมูลให้กับ อสม. ประจำหมู่บ้าน ด้านการสนับสนุนการดูแลตนเองของผู้ป่วยมีการจัดทำแนวทางในการให้ความรู้และพัฒนาทักษะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงตามระดับความเสี่ยง และด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน มีการพัฒนาศักยภาพของอสม. ในการตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง พร้อมทั้งจัดทำคู่มือสำหรับ   อสม. ซึ่งจากการพัฒนาพบว่ามีผู้ป่วยจำนวน10 คน ที่มีการควบคุมอาหารมากขึ้น มีผู้ป่วยจำนวน 2 คนที่เพิ่มการออกกำลังกาย และพบว่าผู้ป่วยที่สูบบุหรี่มีการปรับลดปริมาณการสูบลง นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 70 มีระดับความดันโลหิตลดลง โดยอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้จำนวน 4 คน คิดเป็นร้อยละ 20 และพบว่าระดับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองของผู้ป่วยเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงจำนวน 1 คน ที่มีระดับความเสี่ยงลดลงเป็นอยู่ในระดับเสี่ยงปานกลาง และมีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงปานกลางจำนวน 1 คนที่มีระดับความเสี่ยงลดลงเป็นอยู่ในระดับเสี่ยงน้อย

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-27