ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของเจ้าของสุนัขในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ Factors associated with dog owner’s behavior on rabies prevention, Muang district, Buriram province

ผู้แต่ง

  • ศรกฤษณ์ รักพาณิชย์
  • เกรียงศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์

คำสำคัญ:

พฤติกรรม, การป้องกัน, พิษสุนัขบ้า, เจ้าของสุนัข

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์ แบบภาคตัดขวาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมที่เหมาะสมกับไม่เหมาะสมต่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของเจ้าของสุนัขในเขตอำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบเกาะกลุ่มสองชั้น เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง 401 คน ดำเนินการเก็บข้อมูลระหว่างเดือน มีนาคมถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2560 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่ามัธยฐาน ค่าควอไทล์ที่ 1 และ 3 วิเคราะห์ความสัมพันธ์พหุปัจจัยโดยใช้สถิติถดถอยโลจิสติกส์พหุ(Multiple logistic regression) กำหนดระดับนัยสำคัญที่ 0.05

   ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยด้านลักษณะการเลี้ยงสุนัขแบบจำกัดบริเวณ  มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเหมาะสมต่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ORadj = 4.00 , 95% CI : = 2.36 - 6.80, p-value < 0.001) ในส่วนของปัจจัยนำพบว่า ความรู้ที่เพียงพอและทัศนคติที่เหมาะสม มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเหมาะสมต่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ORadj = 1.73 , 95% CI : 1.01 - 2.95,  p-value  = 0.046 ; ORadj = 3.48 , 95% CI : 2.00 - 6.07,  p-value < 0.001) ปัจจัยเอื้อระดับมาก มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเหมาะสมต่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ORadj = 2.15 , 95% CI = 1.23 - 3.75,  p-value = 0.007) และปัจจัยเสริมระดับมาก มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเหมาะสมต่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ORadj= 2.21,95% CI = 1.29 - 3.79,  p-value = 0.004)  ข้อเสนอแนะคือ เจ้าของสุนัขควรเลี้ยงสุนัขโดยควบคุมจำกัดบริเวณไม่ให้สุนัขหลุดไปในชุมชนเพียงลำพัง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้เจ้าของสุนัขสามารถเข้าถึงปัจจัยเอื้อและปัจจัยเสริมต่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างเพียงพอ  รวมถึงควรมีการส่งเสริมให้เจ้าของสุนัขมีความรู้ และทัศนคติ ที่ถูกต้องเหมาะสมต่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยผ่านหลายช่องทางการสื่อสาร

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-08-11