การพัฒนารูปแบบการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงโดยใช้การจัดการผู้ป่วยรายกรณีร่วมกับการสนับสนุนทางสังคม Development of a Nursing Care Model based on Case Management and Social Support on Pregnant Women with Pregnancy Induce Hypertension

ผู้แต่ง

  • พรศิริ เสนธิริ
  • สุดใจ ศรีสงค์
  • ศิริรัตน์ อินทรเกษม
  • รัศมีแข พรหมประกาย
  • ขวัญฤดี โกพลรัตน์

คำสำคัญ:

รูปแบบการพยาบาล การจัดผู้ป่วยรายกรณี การสนับสนุนทางสังคม หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาประสิทธิผลของการใช้รูปแบบการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงโดยใช้การจัดการผู้ป่วยรายกรณีร่วมกับการสนับสนุนทางสังคม ทำการศึกษาที่คลินิกฝากครรภ์ งานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลนครพนม ผู้ร่วมวิจัยได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง 60 คน บุคคลในครอบครัว 60 คน และบุคลากรพยาบาล 30 คน ดำเนินการศึกษาระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ถึงเดือนสิงหาคม 2560 ขั้นตอนการพัฒนาประกอบด้วย 3 ขั้นตอน 1) วิเคราะห์สถานการณ์การดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง 2) พัฒนารูปแบบการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงโดยใช้การจัดการผู้ป่วยรายกรณีร่วมกับการสนับสนุนทางสังคม และ 3) ประเมินผล การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์โดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบค่าทีแบบจับคู่ ข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

             ผลการศึกษา พบว่า 1) รูปแบบการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงโดยใช้การจัดการผู้ป่วยรายกรณีร่วมกับการสนับสนุนทางสังคม ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่  โครงสร้างทีมและบทบาทหน้าที่ของทีมสหสาขาวิชาชีพ  แนวปฏิบัติการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงและแนวปฏิบัติการพยาบาลสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง การจัดระบบบริการโดยใช้ผู้จัดการรายกรณี การสนับสนุนทางสังคม และการดูแลต่อเนื่องที่บ้านโดยการติดตามเยี่ยมทางโทรศัพท์และการเยี่ยมบ้าน 2) การประเมินประสิทธิผล หลังการใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้นพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงมีคะแนนความรู้ คะแนนความสามารถในการดูแลตนเองสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 15.93, p < 0.001) และ (t = 35.05, p < 0.001) ตามลำดับ หลังติดตามในสัปดาห์ที่ 4 และสัปดาห์ที่ 8 พบว่า ค่าเฉลี่ยความดันโลหิตซิสโตลิคและความดันไดแอสโตลิคลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 8.98, p < 0.001 และ t = 6.01, p < 0.001) และ  (t = 14.12, p < 0.001 และ t = 17.93, p < 0.001) ตามลำดับ อัตราการขาดนัดร้อยละ 5.00 และอัตราการติดตามเยี่ยมร้อยละ 100.00

             ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า รูปแบบการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงโดยใช้การจัดการผู้ป่วยรายกรณีร่วมกับการสนับสนุนทางสังคม เป็นรูปแบบที่มีประสิทธิผล นำไปสู่การดูแลที่มีคุณภาพ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-08-11