โคม: แนวคิด ประวัติศาสตร์ และกระบวนการสร้าง อัตลักษณ์วัฒนธรรมพระพุทธศาสนาแบบล้านนา

Main Article Content

Phrapalad Jatuporn Vajirañno

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาโคมล้านนา แนวคิด ประวัติศาสตร์ และกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมของล้านนา โดยใช้วิธีการวิจัยเอกสาร ทบทวนวรรณกรรม สัมภาษณ์เชิงลึก เรียบเรียงสรุปสาระสำคัญและวิเคราะห์เนื้อหา ประเพณีของชาวล้านนา เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ประชาชนยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 ในสมัยอาณาจักรหริภุญชัยได้เกิดประเพณีลอยโขมด ในปีพุทธศักราช 2061 พระเจ้าพิลกปนัดดาธิราช แห่งราชวงค์มังราย ทรงดำริให้จัดเทศกาลยี่เป็งเป็นประเพณีใหญ่ พระองค์ทรงนำประชาชนบูชาพระพุทธรูปในพระอารามทั้งหลาย การเล่นเดือนยี่เป็งของชาวล้านนามีหลากหลาย เทศน์มหาชาติ ตกแต่งวิหารด้วยโคมแขวน ตุง จุดผางประทีป ปล่อยโคมไฟ โคมลอย จุดบอกไฟ และส่งเครื่องสังเวยลอยไปตามลำน้ำ อันเป็นที่มาของประเพณีการแต่งเครื่องสักการบูชา โดยทางน้ำเรียกว่า ลอยโขมด ชาวล้านนาจึงได้ยึดถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน


อัตลักษณ์เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ทั้งระหว่างสังคมชุมชนและตัวบุคคล แต่จะเลือกอัตลักษณ์ใด อัตลักษณ์หนึ่งที่ยอมรับ เพื่อนำมาใช้ภายใต้เงื่อนไขของเวลาและพื้นที่ อัตลักษณ์นี้อาจกำหนดได้ทั้งจากบุคคลเป็นผู้กำหนดตนเองหรือกำหนดโดยสังคมชุมชน อัตลักษณ์กับชุมชนจึงเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้ โคมเป็นอัตลักษณ์ของล้านนา เป็นสิ่งที่ชาวล้านนา ใช้สำหรับจุดไฟให้แสงสว่างสืบทอดกันมาแต่โบราณ แฝงไปด้วยเรื่องราวของวิถีชีวิต ความเชื่อและความศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนา ในวัฒนธรรมชาวล้านนา โคมเป็นมากกว่าสิ่งของที่ถูกคิดประดิษฐ์ขึ้น เพื่อใช้งานในการช่วยกำบังไฟที่จุดส่องสว่างไม่ให้ดับ แต่เป็นเรื่องราวของงานหัตถศิลป์ที่เกิดขึ้น ควบคู่กับเรื่องราววิถีชีวิต ความศรัทธา ความเชื่อ จารีตประเพณีของชาวล้านนา ที่สั่งสมส่งต่อยังรุ่นสู่รุ่น เกิดเป็นงานศิลปหัตถกรรมโคมล้านนาที่มีความงดงาม ประณีต โคมเป็นของสูงที่แสดงถึงความสว่างไสวรุ่งโรจน์ ชาวล้านนาจุดโคมเพื่อเป็นพุทธบูชา และจุดไว้ที่ชายคาบ้าน เพื่อเป็นการบูชาเทพารักษ์ ทำให้บ้านมีแสงสว่าง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป

Article Details

บท
บทความวิจัย