การเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนด้วยอปัณณกปฏิปทา

Main Article Content

Wilaiphon Aunchaoban
Phrapalad Somchai Payogo
Phramaha Tawee Mahapanno

บทคัดย่อ

บทความนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการเสริมสร้างสุขภาวะชุมชน และปัญหาสุขภาวะในตำบลคลองคูณ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร 2) เพื่อศึกษาอปัณณกปฏิปทากับการเสริมสร้างสุขภาวะชุมชน และ3) เพื่อเสนอแนวทางการเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนตามหลักอปัณณปฏิปทา งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสาน


            ผลการวิจัย พบว่า การเสริมสร้างสุขภาวะชุมชน เป็นการส่งเสริมสนับสนุนพฤติกรรมบุคคลและชุมขน ให้มีสุขภาวะทางกาย จิต สังคม ปัญญาที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น การดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย การตรวจสุขภาพ การรับประทานอาหารที่สะอาด การออกกำลังกาย การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือนิสัยที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การแสวงหาองค์ความรู้และสามารถตัดสินใจในเรื่องสุขภาพได้ด้วยตนเอง ทำจิตใจให้สงบ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว ชุมชน สร้างสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดี


    อปัณณกปฏิปทา เป็นหลักธรรมที่ว่าด้วยข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด แสดงให้เห็นเหตุแห่งความสิ้นอาสวะ มี 3 ประการ คือ 1) อินทรียสังวร การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดความหลง พอใจ ยินดียินร้าย ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ 2) โภชเนมัตตัญญุตา การรู้จักประมาณในการบริโภค รวมถึงการใช้จ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคตามสมควร 3) ชาคริยานุโยค การหมั่นประกอบความตื่น ขยันหมั่นเพียร มีสติอยู่เสมอ ข้อปฏิบัติทั้ง 3 มีความสำคัญทั้งระดับการใช้ในชีวิตประจำวัน จนถึงระดับปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง


แนวทางการเสริมสร้างสุขภาวะด้วยหลักอปัณณกปฏิปทาในชีวิตประจำวัน 1) ใช้ตาดู หูฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์ นอนและตื่นตามนาฬิกาชีวิต ไม่ติดรสอาหาร ไม่หลงยินดีพอใจ ไม่โกรธหงุดหงิด มีความละอายชั่วกลัวบาป 2) กิน ใช้ปัจจัย 4 พอประมาณ ไม่มากไม่น้อยเกิน พิจารณาประโยชน์ โทษของอาหารเครื่องบริโภคและอุปโภค ไม่ใช้ฟุ่มเฟือย พอใจในสิ่งที่มีอยู่ 3) มีสติ ตื่นตัว ขยันหมั่นเพียรในการทำความดี การงานอาชีพ มีจิตอาสาช่วยเหลืองานของส่วนรวม ผลจากการปฏิบัติ ทำให้มีสุขภาพกายดี มีสุขภาพจิตที่ดี มีครอบครัว สังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี มีปัญญาพิจารณาไตร่ตรอง สามารถแก้ปัญหาให้ตนเองและสังคมส่วนรวมได้อย่างเหมาะสม

Article Details

บท
บทความวิจัย