การประเมินผลการใช้งานระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (e-LAAS) ขององค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดเชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • เทียนใจ สุทะ
  • กรวีร์ ชัยอมรไพศาล

คำสำคัญ:

การประเมิน ระบบบัญชีคอมพิวเตอร์, องค์การบริหารส่วนตำบล, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยข้อมูลเบื้องต้นของผู้ใช้ระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อคุณลักษณะซอฟต์แวร์ (Software) ที่มีคุณภาพ 2) เพื่อประเมินผลการใช้งานระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูล กลุ่มประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (e-LAAS) ในการปฏิบัติงานขององค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ 89 แห่ง จำนวน 356 คน สถิติที่ใช้ในการศึกษา คือ สถิติเชิงพรรณนา ประกอบด้วย การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมุติฐานประกอบด้วย การทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยระหว่าง 2 กลุ่มที่เป็นอิสระต่อกัน (Independent Samples: t-test) การทดสอบความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-Way ANOVA) พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีช่วงอายุระหว่าง 30-39 ปี จบการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาตรี ในสาขาการบัญชี การเงิน การคลัง หรือเศรษฐศาสตร์ เป็นเจ้าหน้าที่การเงิน และบัญชี มีอายุการทำงานราชการ 5-10 ปี มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้วยระบบ e-LAAS ในช่วง 1-2 ปี และเคยเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ (e-LAAS) จำนวน 1 ครั้ง ผลการศึกษาความพึงพอใจต่อคุณลักษณะซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีความพึงพอใจต่อคุณลักษณะของซอฟท์แวร์ (Software) ที่มีคุณภาพ อยู่ในระดับมาก คือ ด้านความน่าเชื่อถือ (µ = 3.84, σ = 0.63) ด้านประโยชน์ใช้สอย (µ = 3.68, σ = 0.62) ด้านความสามารถในการโอนย้ายระบบ (µ = 3.62, σ = 0.87) ด้านความสามารถในการบำรุงรักษา (µ = 3.61, σ = 0.78) ด้านความสามารถในการใช้งาน (µ = 3.50, σ = 0.58) และด้านประสิทธิภาพ (µ = 3.49, σ = 0.70) จากการทดสอบสมมุติฐานพบว่า ปัจจัยข้อมูลเบื้องต้นด้านเพศ อายุ ตำแหน่งหน้าที่ ประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้วยระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ (e-LAAS) และจำนวนครั้งในการศึกษาอบรมเกี่ยวกับระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ มีผลต่อคุณลักษณะซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง และมีค่าเฉลี่ยของระดับความพึงพอใจต่อคุณลักษณะซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพสูงกว่าเพศชาย และผู้ใช้งานที่มีอายุน้อยกว่ามักมีการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีได้เร็วกว่าผู้ที่มีอายุมาก มีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในแต่ละตำแหน่งแตกต่างกัน ผู้ที่ศึกษาอบรมเกี่ยวกับระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ทำให้เกิดการเรียนรู้ เกิดการจดจำ จึงทำให้สามารถใช้ระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ ได้ดีกว่าผู้ที่ไม่เคยเข้ารับการอบรม และผู้มีประสบการณ์ในการใช้งานระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความชำนาญ สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงมีการปฏิบัติงานที่รวดเร็ว และผลประเมินการใช้งานระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาใช้ในองค์การบริหารส่วนตำบล พบว่า บุคลากรไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบอย่างเพียงพอ มีการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีคุณภาพ เข้ามาใช้งานทำให้ขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน เมื่อมีผู้ใช้งานระบบมาก ระบบจะใช้งานไม่ได้ และคู่มือมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยไม่เพียงพอต่อการใช้งาน

เผยแพร่แล้ว

05-02-2018