การประเมินผลหลักสูตรฝึกอบรม ความรู้เกี่ยวกับการวิจัยทางสังคมศาสตร์

Authors

  • อภิสิทธิ์ คุณวรปัญญา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 272 ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร. 10400
  • คำรณ โชธนะโชติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 272 ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร. 10400

Abstract

การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลหลักสูตรฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ศึกษาความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาหลักสูตร การนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ และประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของผู้ผ่านการฝึกอบรม ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรความรู้เกี่ยวกับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 31 คน ผู้บังคับบัญชา จำนวน 27 คน และเพื่อนร่วมงานของผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 29 คน รวมทั้งสิ้น 87 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม และแบบทดสอบความรู้ก่อน-หลังการฝึกอบรม และภายหลังการฝึกอบรมเสร็จสิ้น 3 เดือน ผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม จำนวน 3 ชุด ใช้กับผู้ผ่านการฝึกอบรม ผู้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงานของผู้ผ่านการฝึกอบรม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าคะแนนเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบความแตกต่างของกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม และคำนวณค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

                ผลการวิจัย พบว่า หลักสูตรความรู้เกี่ยวกับการวิจัยทางสังคมศาสตร์มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุดทั้ง 5 ด้าน คือ ด้านวิทยากร ด้านเทคนิค/วิธีการฝึกอบรม ด้านหลักสูตรการฝึกอบรม ด้านสถานที่จัดฝึกอบรม และด้านการจัดฝึกอบรม ผลการวิจัยด้านความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาหลักสูตร การนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ และประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน พบว่า ผู้ผ่านการฝึกอบรมได้รับความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาหลักสูตรในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง  สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในระดับปานกลางถึงระดับมาก มีประสิทธิภาพการปฏิบัติงานอยู่ในระดับมาก และผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า ผู้ผ่านการฝึกอบรมที่มีปัจจัยส่วนบุคคลแตกต่างกัน มีคะแนนความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไม่แตกต่างกัน ผู้ผ่านการฝึกอบรมที่มีประเภทของผู้ปฏิบัติงานแตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อความเหมาะสมของหลักสูตรแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผู้ผ่านการฝึกอบรมที่เพศ และหน่วยงานที่สังกัดแตกต่างกัน มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาหลักสูตรแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผู้ผ่านการฝึกอบรมที่เพศ ระดับการศึกษา และระยะเวลาปฏิบัติงานแตกต่างกัน มีการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผู้ผ่านการฝึกอบรมที่มีระดับการศึกษา และประเภทของผู้ปฏิบัติงานแตกต่างกัน มีประสิทธิภาพการปฏิบัติงานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และผลการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาหลักสูตร กับการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ พบว่า มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในทิศทางเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และผลการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาหลักสูตร กับประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน พบว่า มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในทิศทางเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05  โดยผู้ผ่านการฝึกอบรมมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการปฏิบัติงานในทางที่ดีขึ้น สามารถนำความรู้และเทคนิคต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีข้อเสนอแนะให้เพิ่มระยะเวลาในการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติ ควรจัดฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง ควรเพิ่มตัวอย่างงานวิจัยประกอบการบรรยาย และควรจัดฝึกอบรมช่วงปิดภาคการศึกษา เพื่อที่จะมีเวลาเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มมากขึ้น

Downloads

Published

2017-08-09