การพัฒนาหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ไทยในหลักสูตรนานาชาติ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

Authors

  • กิตติคุณ รุ่งเรือง ฝายพัฒนา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์
  • ดรุณี จำปาทอง สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • กัญจนา ลินทรัตนศิริกุล สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • สิริวรรณ ศรีพหล บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Keywords:

การพัฒนาหลักสูตร, ประวัติศาสตร์ไทย, หลักสูตรนานาชาติ, การศึกษาขั้นพื้นฐาน

Abstract

บทคัดย่อ

                  การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) พัฒนาหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ไทยในหลักสูตรนานาชาติ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ (2) ศึกษาประสิทธิภาพของหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ไทยในหลักสูตรนานาชาติ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

                  การดำเนินการวิจัยมี 2 ตอน คือ ตอนที่ 1 การพัฒนาหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ไทยในหลักสูตรนานาชาติ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน สภาพการจัดการการศึกษาหลักสูตรนานาชาติ แนวคิดการพัฒนาหลักสูตร และสังเคราะห์รูปแบบการพัฒนาหลักสูตร ตลอดจนการตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ตอนที่ 2 การศึกษาประสิทธิภาพของหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ไทยในหลักสูตรนานาชาติ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  โดยนำไปทดลองใช้กับนักเรียนหลักสูตรนานาชาติ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) Year 10 จำนวน 40 คน ระยะเวลาในการทดลอง 24 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ หลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ไทยในหลักสูตรนานาชาติ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบบวัดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านรักความเป็นไทย แบบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทย การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การหาดัชนีความสอดคล้อง การทดสอบค่าที และการวิเคราะห์เนื้อหา

            ผลการวิจัย ปรากฏว่า (1) หลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ไทยในหลักสูตรนานาชาติ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย องค์ประกอบ 7 ประการ คือ  (1.1) ข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร (1.2) คำอธิบายรายวิชา (1.3) มาตรฐานตัวชี้วัดและผลการเรียนรู้ (1.4) โครงสร้างหลักสูตร (1.5) กระบวนการจัดการเรียนรู้ (1.6) สื่อและแหล่งการเรียนรู้ และ  (1.7) การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ทั้งนี้หลักสูตรนี้ได้กำหนดผลการเรียนรู้เพิ่มเติม 2 ข้อ คือ 1)วิเคราะห์ผลงานและคุณค่าของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย  ส่งผลต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของสังคมไทยปัจจุบัน และ 2)  อภิปรายในรากเหง้าความเป็นไทย และสำนึกในความเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ตลอดจนมีความภาคภูมิใจในมรดกและทรัพย์สินของชาติด้านภูมิปัญญา  และวัฒนธรรม ผลการตรวจสอบคุณภาพหลักสูตร พบว่า มีความเหมาะสมระดับมากที่สุด และมีความสอดคล้องกันทุกองค์ประกอบ และ (2) ประสิทธิภาพของหลักสูตร พบว่า หลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ไทยในหลักสูตรนานาชาติ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีประสิทธิภาพ คือ (2.1) นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านรักความเป็นไทยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (2.2) นักเรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ(2.3) นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

Downloads

Published

2018-03-16