เปรียบเทียบระดับการรับรู้และการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานแช่เย็นและแช่แข็ง ของนักศึกษาปริญญาตรีสองกลุ่มคณะ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • วัชรพงศ์ สมยา สาขาวิชาโภชนศาสตร์เพื่อสุขภาพ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • สุวลี โล่วิรกรณ์ สาขาการบริหารสาธารณสุข การส่งเสริมสุขภาพ โภชนาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional descriptive study) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบระดับการรับรู้และการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานแช่เย็นและแช่แข็ง โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือวิจัยในการเก็บรวบรวมข้อมูลกับนักศึกษาปริญญาตรีช่วงวัยเจนเนอร์เรชั่นวาย ระหว่างนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี กับนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ จำนวนคณะละ 133 คน ซึ่งดำเนินการระหว่างช่วงเดือนมกราคม 2561-มีนาคม 2561

ผลการศึกษา พบว่า นักศึกษาทั้งสาขาเทคโนโลยีการอาหารและคณะสาธารณสุขศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 80.45 และ 82.71 ตามลำดับ มีอายุระหว่าง 18-23 ปี โดยนักศึกษาทุกคนทั้งสองกลุ่มคณะบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานแช่เย็นและแช่แข็ง รวมทั้งมีการรับรู้ด้านความหมายของผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value= 0.004) โดยสาขาเทคโนโลยีการอาหารมีการรับรู้อยู่ในระดับสูง แต่คณะสาธารณสุขศาสตร์มีการรับรู้ในระดับปานกลาง ส่วนการรับรู้ประโยชน์และการรับรู้ถึงส่วนประกอบและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการบริโภค นักศึกษาทั้งสองกลุ่มคณะมีการรับรู้ในระดับสูง ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value>0.05) ในขณะที่การรับรู้ถึงแรงจูงใจในการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน ทั้งสองกลุ่มคณะมีการรับรู้ในระดับปานกลาง ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value>0.05) รวมทั้งนักศึกษาทั้งสองกลุ่มคณะส่วนใหญ่มีความถี่ในการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานประเภทต่างๆ นานๆ ครั้ง บางครั้ง และไม่บริโภค

ดังนั้นจากข้อค้นพบที่ได้จากผลการศึกษา จึงควรส่งเสริมให้นักศึกษาช่วงวัยเจนเนอร์เรชั่นวายเกิดความตระหนักต่ออันตรายและความเสี่ยงทางด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานแช่เย็นและแช่แข็ง ติดต่อกันเป็นประจำหรือเป็นระยะเวลานาน เพื่อความคาดหวังให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อันจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-19