ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการตัดสินใจมาตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงโดยการส่องกล้อง (Colonoscopy) อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • ปัณณวัฒน์ โม้เวียง สาขาวิชาวิทยาการระบาด คณะสาธารณสุข มหาหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • เนาวรัตน์ มณีนิล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ชนัญญา จิระพรกุล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทคัดย่อ

มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สำคัญของประชากรทั่วโลก การตรวจยืนยันเพื่อค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงในประชากรที่มีความเสี่ยงนั้น เป็นมาตรการที่ได้รับการยอมรับว่ามีประโยชน์ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้มากกว่าร้อยละ 90 หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของโรค การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษา Cross-sectional Analytical Study เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการตัดสินใจมาตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยการส่องกล้อง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนในอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ที่เข้าร่วมโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง และมีผลการตรวจด้วยวิธี iFOBT เป็นบวก (Positive) กลุ่มตัวอย่างจำนวน 123 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ ระหว่างเดือน เมษายน ถึง พฤษภาคม 2561 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการตัดสินใจมาตรวจยืนยันมะเร็ง
ลำไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยการส่องกล้องด้วยสถิติพหุถดถอยแบบโลจิสติก (Multiple logistic regression) นำเสนอขนาดความสัมพันธ์ด้วยค่า Adjusted Odds Ratio (ORadj) และช่วงความเชื่อมั่น 95%

ผลการศึกษาพบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการตัดสินใจมาตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยการส่องกล้องอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.05) เมื่อควบคุมผลกระทบจากตัวแปรในสมการ คือ ระดับการศึกษามัธยมศึกษาหรือสูงกว่า (ORadj=10.38, 95% CI=1.22-87.93) รายได้ครอบครัวเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่าหรือเท่ากับ 7,000 บาท (ORadj=3.70, 95% CI= 1.47-9.32) มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็ง (ORadj =3.16, 95% CI=1.15-8.66) และการได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนบ้าน (ORadj=5.83, 95% CI=1.18-15.61)

จากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยส่วนบุคคลและการได้รับการสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ต่อการตัดสินตัดสินใจมาตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยการส่องกล้อง ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ควรให้ความสนใจกลุ่มเสี่ยงที่มีผลการตรวจด้วยวิธี iFOBT เป็นบวกที่มีการศึกษาต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษา และมีรายได้น้อย โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมการสนับสนุนของชุมชนในการกระตุ้นให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้ามารับการตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง โดยการส่องกล้อง และมีการติดตามเยี่ยมบ้านให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการตรวจ วิธีการปฏิบัติตัวเมื่อต้องเข้ามารับการตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยการส่องกล้อง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-15