ผลของการบริโภคเครื่องดื่มน้ำสำรองร่วมกับการให้โภชนศึกษาต่อน้ำหนักตัวและระดับ ไขมันในเลือดของบุคลากรที่มีภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วนในโรงพยาบาลกาฬสินธุ์

ผู้แต่ง

  • นิธิยา นามวงศ์
  • ณิตชาธร ภาโนมัย
  • ประมวล ไทยงามศิลป์

คำสำคัญ:

น้ำสำรอง, น้ำหนักเกิน, โคเลสเตอรอล

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงผลการบริโภคเครื่องดื่มน้ำสำรองร่วมกับการให้โภชนศึกษาต่อน้ำหนักตัว ดัชนีมวลกาย เส้นรอบเอว สัดส่วนเส้นรอบเอวต่อเส้นรอบสะโพก ระดับโคเลสเตอรอล และระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดของบุคลากรที่มีภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วนในโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นการศึกษาวิจัยแบบกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่าง 71 ราย แบ่งออกเป็นกลุ่มทดลอง 35 ราย/กลุ่ม
และกลุ่มเปรียบเทียบ 36 ราย/กลุ่ม โดยทั้งสองกลุ่มจะได้รับโภชนศึกษา แต่เฉพาะในกลุ่มทดลองจะได้รับเครื่องดื่มน้ำสำรองชนิดกระป๋องปริมาณ 180 มิลลิลิตร วันละ 2 กระป๋อง ในมื้อเที่ยงและมื้อเย็น เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง มีนาคม พ.ศ. 2555 และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มเปรียบเทียบโดยใช้สถิติ t-test กำหนดระดับนัยสำคัญที่ 0.05
จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้พบว่าจากการที่กลุ่มตัวอย่างได้รับใยอาหารเพิ่มขึ้น จะสามารถลดปริมาณพลังงานและสารอาหารจากการบริโภคได้ นอกจากนี้ผลต่างระหว่าง ดัชนีมวลกายเส้นรอบเอว ค่าสัดส่วนเส้นรอบเอวต่อเส้นรอบสะโพก และระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ก่อนและหลังการทดลองลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.021, p=022, p=0.037, p<0.001 ตามลำดับ) สำหรับน้ำหนักตัว และระดับไตร
กลีเซอไรด์ในเลือด ภายหลังการทดลองมีแนวโน้มลดลงแต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการบริโภคเครื่องดื่มน้ำสำรองร่วมกับการให้โภชนศึกษาสามารถลดดัชนีมวลกาย เส้นรอบเอว สัดส่วนเส้นรอบเอวต่อเส้นรอบสะโพก ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-04-03