ปัญหากฎหมายตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและ วิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 : ศึกษากรณีการจับ และการตรวจสอบการจับ

ผู้แต่ง

  • Komsan Srithong1

คำสำคัญ:

การจับ, การตรวจสอบการจับ

บทคัดย่อ

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553                             ได้เปลี่ยนแปลงหลักการและสาระสำคัญของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฉบับเดิม คือ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 อย่างมาก โดยกำหนดมาตรการใหม่ ๆ ซึ่งมีวิธีดำเนินการเฉพาะ และแก้ไขเพิ่มอำนาจหน้าที่และภารกิจของศาลเยาวชนและครอบครัวหลายประการ เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ การใช้และการตีความกฎหมายยังไม่ได้มีการสร้างแนวบรรทัดฐานขึ้นมา จึงอาจมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันในแต่ละคดี ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติรรมทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นในชั้นตำรวจ ชั้นอัยการและชั้นศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องการจับและการตรวจสอบการจับ

การวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาปัญหาดังกล่าวโดยทำการศึกษาและวิเคราะห์ปัญหากฎหมายของประเทศไทยและศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น ในประเด็นเรื่องการจับและการตรวจสอบการจับ เพื่อหาข้อบกพร่องและแนวทางการแก้ไขปัญหากฎหมายของประเทศไทย และศึกษาหามาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในกฎหมายของต่างประเทศเพื่อนำมาปรับปรุงใช้กับกฎหมายของไทย

จากการศึกษาพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ในประเด็นเรื่องการจับและการตรวจสอบการจับ พบว่ามีปัญหากฎหมาย คือ ปัญหาอำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจในการป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดจากเด็กซึ่งยังไม่มีความชัดเจน, สถานที่ที่ใช้ในการควบคุมเด็กหรือเยาวชนยังไม่เป็นสัดส่วนและเหมาะสมสำหรับเด็ก, ระยะเวลาที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนได้ก่อนนำไปตรวจสอบการจับภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนั้นสั้นเกินไป, ศาลต้องตรวจสอบการจับทุกรณีโดยไม่มี 

ข้อยกเว้นอันเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ปฏิบัติเกินความจำเป็น, การไม่มีมาตรการทางกฎหมายบังคับกรณีที่การปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และความไม่ชัดเจนในเรื่องของเขตอำนาจศาลที่ตรวจสอบการจับ และเมื่อศึกษาถึงกฎหมายของต่างประเทศเทียบกับกฎหมายของไทย พบว่ากฎหมายของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุของเด็กหรือเยาวชน อำนาจในการจับกุม ระยะเวลาการควบคุมตัวและการปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนหลังจากจับกุมตัวแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศไป

ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเห็นว่าพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553  สมควรที่จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมความบกพร่องของกฎหมายดังกล่าว โดยเพิ่มเติมอำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจในการป้องกันมิให้เด็กกระทำความผิดและอำนาจจับกุมเด็กที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือ  มีพฤติการณ์ว่าจะก่อเหตุร้ายขึ้นด้วย  รัฐควรให้งบประมาณสนับสนุนให้สถานีตำรวจทุกแห่งมีห้องควบคุมที่แยกเป็นสัดส่วนและเหมาะสมสำหรับเด็กหรือเยาวชน  ควรขยายระยะเวลาที่จะต้องนำตัวผู้ถูกจับไปตรวจสอบการจับให้มากกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง ควรให้มีการตรวจสอบการจับกุมเฉพาะคดีที่มีอัตราโทษสูงหรือกรณีที่เด็กหรือเยาวชนรวมทั้งผู้ปกครองโต้แย้งหรือคัดค้านการจับกุมเท่านั้น  ควรกำหนดมาตรการทางกฎหมายให้ชัดเจนกรณีที่มีการปฏิบัติต่อเด็กหรือเยาวชนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และควรกำหนดให้ศาลท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดมีอำนาจในการตรวจสอบการจับกุมเด็กหรือเยาวชนเนื่องจากพยานหลักฐานต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นประจักษ์พยาน พยานแวดล้อมกรณีต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นในท้องที่ที่กระทำความผิด

ส่วนข้อดีของกฎหมายต่างประเทศที่เห็นสมควรนำมาเป็นในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของประเทศไทยคือ ควรกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับการฝึกให้จับกุมและสอบสวนคดีเด็กหรือเยาวชน รับผิดชอบเกี่ยวกับคดีเด็กหรือเยาวชนโดยเฉพาะ ควรให้เจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจจับกุมเด็กที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมอีก ควรนำมาตราการการป้องกันอาชญากรรมขั้นต้น (primary crime prevention) มาใช้ ควรนำมาตรการการเตือน (cautioning) และการเตือนแบบพิเศษ (caution plus or supported caution schemes) มาใช้ ควรให้ความสำคัญต่อการเสนอข่าวและความเป็นส่วนตัวของเด็กหรือเยาวชนให้เด็กหรือเยาวชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข และเข้าสู่สังคมได้โดยไม่ถูกสังคมรังเกียจหรือรื้อฟื้นเรื่องในอดีตมาตอกย้ำเด็กหรือเยาวชนอีก

References

อภิรดี โพธิ์พร้อม. (2551). 8 ปีแห่งการรอคอย....พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553. วารสารศาลยุติธรรมปริทัศน์, 1-144 pc23.indd, 11 –137.

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553. เล่ม 127 ตอน72 ก (กรุงเทพฯ : ราชกิจจานุเบกษา, 2553), 13.

สิบตำรวจโท ศิลา ขำเพชร. (2545). ปัญหาทางกฎหมายในการควบคุมการเสพสุราของเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี. วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 1.

เบ็ญจรัตน์ จริยธาราสิทธิ์. (2550). ยุทธศาสตร์การกันผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนออกจากคดีอาญา ตามบทบาทของผู้พิพากษาสมทบ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา. ราชบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

12-06-2018

How to Cite