การส่งบทความ

เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน เพื่อส่งบทความ

รายการตรวจสอบก่อนส่งบทความ

ในขั้นตอนการส่งบทความ ผู้แต่งต้องตรวจสอบและปฏิบัติตามข้อกำหนดรายการตรวจสอบการส่งทุกข้อ ดังต่อไปนี้ และบทความอาจถูกส่งคืนให้กับผู้แต่งกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งหมด
  • ต้นฉบับที่ส่งมาเพื่อรับการพิจารณาจะต้องไม่เคยตีพิมพ์ในวารสารใดวารสารหนึ่งมาก่อน และไม่อยู่ระหว่างเสนอขอตีพิมพ์ในวารสารอื่น บทความมีความทันสมัยและสอดคล้องกับวัตุประสงค์ของวารสาร
  • • ผู้ส่งบทความจะต้องจัดเตรียมบทความให้ตรงตามรูปแบบและการเขียนรายการอ้างอิงที่วารสารกำหนด (ตามหัวข้อคำแนะนำการเตรียมต้นฉบับ) โดยจัดทำเป็น 1 Column และเตรียมบทความในรูปแบบของไฟล์ Microsoft Word
  • ผู้นิพนธ์ ต้องแนบ “แบบฟอร์มส่งบทความ” เพื่อพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Mahidol R2R e-Journal โดยขอให้ส่งเข้ามาในระบบพร้อมกับบทความต้นฉบับ (สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ : https://bit.ly/3MVymBP)
  • กรณีบทความวิจัยที่ทำการวิจัยในคนหรือสัตว์ทดลอง ขอให้แสดงหลักฐานหรือหนังสือรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนหรือในสัตว์ทดลอง โดยขอให้ส่งเข้ามาในระบบพร้อมกับบทความต้นฉบับพร้อมระบุข้อความที่เกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยในเนื้อหาของบทความด้วย
  • ความรับผิดชอบเนื้อหาต้นฉบับที่ปรากฏในวารสารเป็นความผิดชอบของผู้เขียน ทั้งนี้ไม่รวมความผิดพลาดอันเกิดจากเทคนิคการพิมพ์
  • วารสาร Mahidol R2R e-Journal ไม่มีนโยบายในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ หรือค่าดำเนินการจัดการต้นฉบับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากผู้นิพนธ์ รวมถึงค่าธรรมเนียมการเป็นสมาชิกของวารสาร ยกเว้น กรณีที่ผู้นิพนธ์ขอถอนบทความ หรือส่งบทความไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ หรือเผยแพร่ในหนังสือประมวลบทความในการประชุมทางวิชาการ (proceedings) ซึ่งบทความนั้นได้ผ่านการประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิหรือในสาขาที่เกี่ยวข้อง และมีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ผู้นิพนธ์ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินการประเมินและกลั่นกรองคุณภาพบทความให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเงินจำนวน 3,000 บาท (สามพันบาทถ้วน) ต่อบทความ

คำแนะนำผู้แต่ง

            วารสาร Mahidol R2R e-Journal เป็นวารสารของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

            เพื่อเผยแพร่บทความวิชาการและบทความวิจัย ในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สหวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสหวิทยาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยนำความรู้ ผลการศึกษาค้นคว้า และแนวคิดการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R (Routine to Research)) ที่มีเนื้อหาวิชาการที่เป็นประโยชน์ในวงวิชาชีพ หรือเป็นผลงานที่แก้ไข ปรับปรุง หรือพัฒนางานประจำให้ดีขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิคใหม่ ๆ ทางวิชาการ และเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการด้านการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล หรือบุคลากรทางการแพทย์ และผู้สนใจได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับงาน R2R และนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาและการทำงานได้

 

            กระบวนการพิจารณาบทความ:

            บทความต้นฉบับทุกประเภทจะต้องผ่านการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (peer review) หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 3 ท่าน ด้วยวิธีการปิดบังชื่อผู้ทรงคุณวุฒิและชื่อผู้วิจัยหรือผู้เขียนบทความ (Double-Blinded Review) การตัดสินใจตอบรับบทความต้นฉบับในการตีพิมพ์เผยแพร่ มาจากข้อมูลการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (peer review) หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง และบรรณาธิการ บทบาทของผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง คือการให้ข้อเสนอแนะแก่บรรณาธิการ ส่วนการตัดสินใจขั้นสุดท้ายขึ้นกับบรรณาธิการเท่านั้น และวารสารขอสงวนสิทธิ์ในการปรับแก้รูปแบบ การเขียนต้นฉบับให้เป็นไปตามระเบียบของวารสาร

 

            สาขาที่รับพิมพ์ :

            1) สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ 

            2) สาขาสหวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

            3) สาขาสหวิทยาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

 

            ประเภทบทความที่รับตีพิมพ์ : วารสาร Mahidol R2R e-Journal เปิดรับบทความประเภท “บทความวิจัย” และ “บทความทางวิชาการ” ที่มีเนื้อหาวิชาการที่เป็นประโยชน์ในวงวิชาชีพ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดทำวารสาร

 

            ภาษาที่รับตีพิมพ์: ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

 

            กำหนดออก:วารสาร Mahidol R2R e-Journal ตีพิมพ์ 3 ฉบับต่อปี ดังนี้ ฉบับที่ 1 (มกราคม–เมษายน),ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม) และฉบับที่ 3 (กันยายน–ธันวาคม)

 

            ค่าธรรมเนียมการเผยแพร่: ไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ส่งบทความ

 

            เจ้าของวารสาร : กองทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความทางวิชาการ

คำอธิบายบทความทางวิชาการ Academic Articles คำย่อ Aca_Art

            “บทความทางวิชาการ” หมายความว่า งานเขียนทางวิชาการซึ่งมีการกำหนดประเด็นที่ต้องการอธิบาย หรือวิเคราะห์อย่างชัดเจน ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวตามหลักวิชาการ โดยมีการสำรวจวรรณกรรมเพื่อสนับสนุนจนสามารถสรุปผลการวิเคราะห์ในประเด็นนั้นได้ อาจเป็นการนำความรู้จากแหล่งต่าง ๆ มาประมวลร้อยเรียงเพื่อวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยที่ผู้นิพนธ์แสดงทัศนะทางวิชาการของตนไว้อย่างชัดเจนด้วย (พิจารณาตามคำจำกัดความในประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2564 ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2565 และข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ.565 ฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2565)

 

            บทความวิชาการแบ่งออกเป็นทั้งหมด  6 ส่วน ดังนี้

 

            (ส่วนที่ 1) ประกอบด้วย

            ชื่อบทความ  ใช้ภาษาที่เป็นทางการ ชื่อเรื่องชัดเจนตรงไปตรงมา และครอบคลุมประเด็นของเรื่อง

            ชื่อเจ้าของบทความ ต้องใช้ชื่อจริง ไม่ใช้นามแฝง และไม่ต้องใส่คำนำหน้านาม

 

            (ส่วนที่ 2) ประกอบด้วย

            บทคัดย่อ (Abstract) บทคัดย่อในบทความวิชาการ เป็นการสรุปประเด็นเนื้อหาที่เป็นแก่นสำคัญ (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) เน้นประเด็นสำคัญของงานที่ต้องการนำเสนอจริง ๆ ควรเขียนให้สั้น กระชับ มีความยาวไม่เกิน 10 ถึง 15 บรรทัด โดยบทคัดย่อมักจะประกอบด้วยเนื้อหาสามส่วน คือ เกริ่นนำ สิ่งที่ทำ สรุปผลสำคัญที่ได้ ซึ่งอ่านแล้วต้องเห็นภาพรวมทั้งหมดของงาน

 

            คำสำคัญ (Keyword) เป็นศัพท์เฉพาะทางที่เห็นแล้วเข้าใจได้ทันทีว่างานชิ้นนี้เกี่ยวกับอะไร จำนวนไม่เกิน 3 - 5 คำ (คำสำคัญภาษาอังกฤษ ต้องสอดคล้องกับภาษาไทย)

 

            (ส่วนที่ 3) 

            บทนำ (Introduction) ส่วนนำจะเป็นส่วนที่ผู้เขียนจูงใจให้ผู้อ่านเกิดความสนใจในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งสามารถใช้วิธีการและเทคนิคต่าง ๆ ตามแต่ผู้เขียนจะเห็นสมควร เช่น อาจใช้ภาษาที่กระตุ้น จูงใจ ผู้เขียนอาจหรือยกปัญหาที่กำลังเป็นที่สนใจขณะนั้นขึ้นมาอภิปราย หรืออาจจะกล่าวถึงประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับจากการอ่าน นอกจากจะเป็นส่วนที่ใช้จูงใจผู้อ่านแล้ว ส่วนนำเป็นส่วนที่ผู้เขียนสามารถกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเขียนบทความนั้น หรือให้คำชี้แจงที่มาของการเขียนบทความนั้น ๆ รวมทั้งขอบเขตของบทความนั้น เพื่อช่วยให้ผู้อ่านไม่คาดหวังเกินขอบเขตที่กำหนด ประกอบด้วย

          (1) หลักการและเหตุผล (rationale) หรือความเป็นมาหรือภูมิหลัง (Background) หรือความสำคัญของเรื่องที่เขียน (justification) หัวข้อนี้จะทำให้ผู้อ่านได้ทราบเป็นพื้นฐานไว้ก่อนว่าเรื่องที่เลือกมาเขียนมีความสำคัญหรือมีความเป็นมาอย่างไรเหตุผลใดผู้เขียนจึงเลือกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาเขียน ในการเขียนบทนำในย่อหน้าแรกซึ่งถือว่าเป็นการเปิดตัวบทความทางวิชาการ และเป็นย่อหน้าที่ดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน

          (2) วัตถุประสงค์ เป็นการเขียนว่าในการเขียนบทความในครั้งนี้ต้องการให้ผู้อ่านได้ทราบเรื่องอะไรบ้าง โดยจำนวนวัตถุประสงค์แต่ละข้อไม่ควรมีมากเกินไปและวัตถุประสงค์แต่ละหัวข้อจะต้องสอดคล้องกับเรื่องหรือเนื้อหาของบทความ

          (3) ขอบเขตของเรื่อง ที่ผู้เขียนต้องการจะบอกกล่าวให้ผู้อ่านทราบและเข้าใจตรงกัน เพื่อเป็นกรอบในการอ่านโดยการเขียนขอบเขตนั้น อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยในการเขียน ได้แก่ ความยาวของงานที่เขียน หากมีความยาวไม่มากก็ควรกำหนด    ขอบเขตการเขียนให้แคบลงไม่เช่นนั้นผู้เขียนจะไม่สามารถนำเสนอเรื่องได้ครบถ้วนสมบูรณ์ และระยะเวลาที่ต้องรวบรวมข้อมูล การกำหนดเรื่องที่จะเขียนที่ลึกซึ้ง สลับซับซ้อน หรือเป็นเรื่องเชิงเทคนิคอาจจะยากต่อการรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงเนื้อเรื่อง ดังนั้นหากมีเวลาน้อยก็ควรพิจารณาเขียนเรื่องที่มีขอบเขตไม่กว้างหรือสลับซับซ้อนมากนัก

          (4) คำจำกัดความหรือนิยามต่าง ๆ ที่ผู้เขียนเห็นว่าควรระบุไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านในกรณีที่คำเหล่านั้น ผู้เขียนใช้ในความหมายที่แตกต่างจากความหมายทั่วไปหรือเป็นคำที่ผู้อ่านอาจจะไม่เข้าใจ ความหมายถือเป็นการทำความเข้าใจและการสื่อความหมายให้ผู้เขียนบทความและผู้อ่านบทความเข้าใจตรงกัน รวมทั้งเป็นการขยายความหมายให้สามารถตรวจสอบหรือสังเกตได้ด้วย

 

            (ส่วนที่ 4)

            เนื้อเรื่อง  (Body)  การเขียนส่วนเนื้อเรื่องจะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ประกอบกัน กล่าวคือ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ (sciences) นั้นคือหลักวิชาการที่ผู้เขียนจะต้องคำนึงถึงในการเขียน ได้แก่ กรอบแนวความคิด (conceptual framework) ที่ผู้เขียนใช้ในการเขียนจะต้องแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของเหตุที่นำไปสู่ผล (causal relationship) การอ้างอิงข้อมูลต่าง ๆ ในส่วนศิลป์ (art) ได้แก่ ศิลป์ในการใช้ภาษาเพื่อนำเสนอเรื่องที่เขียน การลำดับความ การบรรยาย วิธีการอ้างอิง สถิติและข้อมูลต่าง ๆ ที่ใช้ในการประกอบเรื่องที่เขียน เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและประทับใจมากที่สุด ในส่วนเนื้อหาสาระผู้เขียนควรคำนึงถึงประเด็นสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

          (1) การจัดลำดับเนื้อหาสาระ ผู้เขียนควรมีการวางแผนจัดโครงสร้างของเนื้อหาสาระที่จะนำเสนอ และจัดลำดับเนื้อหาสาระให้เหมาะสมตามธรรมชาติของเนื้อหาสาระนั้น การนำเสนอเนื้อหาสาระควรมีความต่อเนื่องกัน เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจสาระนั้นได้โดยง่าย

          (2) การเรียบเรียงเนื้อหา ในส่วนนี้ต้องอาศัยความสามารถของผู้เขียนในหลายด้านนอกเหนือจากความเข้าใจในเนื้อหาสาระ เช่น ด้านภาษา ด้านสไตล์การเขียน ด้านวิธีการนำเสนอ การนำเสนอเนื้อหาสาระให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายได้อย่างรวดเร็วนั้นจำเป็นต้องใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการนำเสนอเข้าช่วย เช่น การใช้สื่อประเภทภาพ แผนภูมิ ตาราง กราฟ เป็นต้น

          (3) การวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ ต้องเป็นไปอย่างมีหลักการ ทฤษฎี หรือมีหลักฐานอ้างอิงอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความเป็นเหตุเป็นผลที่น่าเชื่อถือ มีการอ้างอิงข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปด้วยทรรศนะของกลุ่มและมุมมองของผู้เขียน โดยมีการเรียบเรียงเรื่องราวต่อเนื่องกันตามลำดับอย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้อ่านหรือ ผู้อ่านสามารถนำเรื่องนั้น ๆ ไปปรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้อีกทางหนึ่ง

          (4) การใช้ภาษา การเขียนบทความทางวิชาการ จะต้องใช้คำในภาษาไทยหากคำไทยนั้นยังไม่เป็นที่เผยแพร่หลาย  ควรใส่คำภาษาต่างประเทศไว้ในวงเล็บ ในกรณีที่ไม่สามารถหาคำไทยได้ จะเป็นต้องทับศัพท์ก็ควรเขียนคำนั้นให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถาน ไม่ควรเขียนภาษาไทยและภาษาต่างประเทศปะปนกัน เพราะจะทำให้งานเขียนนั้นมีลักษณะของความเป็นทางการ (formal) ลดลง ผู้เขียนบทความทางวิชาการจำเป็นต้องพิถีพิถันในเรื่องการเขียน ตัวสะกด การันต์ต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน และควรตรวจทานงานของตนไม่ให้ผิดพลาด เพราะงานนั้นจะเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการต่อไป

          (5) วิธีการนำเสนอ การนำเสนอเนื้อหาสาระให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็วนั้นจำเป็นต้องใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการนำเสนอเข้าช่วย เช่น การใช้สื่อประเภทภาพ แผนภูมิ ตาราง กราฟ เป็นต้น ผู้เขียนควรมีการนำเสนอสื่อต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และถูกต้องตามหลักวิชาการ            

       

            (ส่วนที่ 5)

            ส่วนสรุป (Conclusions) บทความทางวิชาการที่ดี ควรมีการสรุปประเด็นสำคัญๆ ของบทความนั้น ๆ ซึ่งอาจทำในลักษณะที่เป็นการย่อ คือ การเลือกเก็บประเด็นสำคัญๆ ของบทความนั้น ๆ มาเขียนรวมกันไว้อย่างสั้นๆ ท้ายบท หรือ อาจใช้วิธีการบอกผลลัพธ์ว่าสิ่งที่กล่าวมามีความสำคัญอย่างไร สามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง หรือจะทำให้เกิดอะไรต่อไป หรืออาจใช้ วิธีการตั้งคำถามหรือให้ประเด็นทิ้งท้ายกระตุ้นให้ผู้อ่านไปสืบเสาะแสวงหาความรู้ หรือคิดค้นพัฒนาเรื่องนั้นต่อไป งานเขียนที่ดีควรมีการสรุปในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเสมอ

 

            (ส่วนที่ 6) ประกอบด้วย

            กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgements) หากต้องเขียนกิตติกรรมประกาศเพื่อขอบคุณบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเขียนได้ โดยให้อยู่หลังเนื้อหาของบทความและก่อนเอกสารอ้างอิง

 

            เอกสารอ้างอิง (References)

            - การเขียนอ้างอิงในเนื้อเรื่อง ให้ใช้ระบบ นาม-ปี (author-date citation system)    

            - การเขียนอ้างอิง/บรรณานุกรมท้ายบทความ ให้อ้างอิงตามรูปแบบ APA (American Psychological Association)

            หมายเหตุ การเขียนเอกสารอ้างอิงให้เป็นไปตามรูปแบบการอ้างอิง ตามหัวข้อการอ้างอิง (สามารถ download ได้ที่นี่)

          ประวัติผู้เขียนและผู้ร่วมเขียน

            ประกอบด้วย ชื่อ-สกุล ,ประวัติทางการศึกษา, การทำงาน, กผลงานทางวิชาการที่ยอมรับ, ตำแหน่งหน้าที่, การทำงานปัจจุบัน

บทความวิจัย

            คำอธิบายบทความทางวิจัย Research Articles คำย่อ Res_Art 

            “บทความวิจัย” หมายความว่า งานวิชาการที่เป็นงานศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบด้วยวิธีวิทยาการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้น ๆ มีที่มาและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล คำตอบ หรือข้อสรุปรวม ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ (งานวิจัยพื้นฐาน) หรือการนำวิชาการนั้นมาใช้ประโยชน์ (งานวิจัยประยุกต์-Applied research) หรืองานวิจัยสร้างสรรค์ (Creative research) หรือการพัฒนาอุปกรณ์ หรือกระบวนการใหม่ที่เกิดประโยชน์ (พิจารณาตามคำจำกัดความในประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. ๒๕๖๔ ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ และข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ.๒๕๖๕ ฉบับลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๕)

 

            บทความวิจัยแบ่งออกเป็น ดังนี้             

 

            (ส่วนที่ 1)

            ชื่อบทความ  ใช้ภาษาที่เป็นทางการ ชื่อเรื่องชัดเจนตรงไปตรงมา และครอบคลุมประเด็นของเรื่อง

            ชื่อเจ้าของบทความ ต้องใช้ชื่อจริง ไม่ใช้นามแฝง และเป็นชื่อเดียวกันกับรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์

 

            (ส่วนที่ 2)

            บทคัดย่อ (Abstract)  เป็นเนื้อหาสาระส่วนที่นำเสนอวัตถุประสงค์การวิจัย ตัวแปร (Parameter) หรือสมมุติฐาน วิธีการวิจัย และผลการวิจัย (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) โดยสรุป ข้อเสนอแนะในการวิจัย และการนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพรวมงานวิจัยทั้งฉบับเป็นข้อความที่มีคำสำคัญทั้งหมดในบทความวิจัย และเป็นข้อความสั้นกะทัดรัดไม่เยิ่นเย้อ (ความยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ)

 

            คำสำคัญ (Keyword) เป็นศัพท์เฉพาะทางที่เห็นแล้วเข้าใจได้ทันทีว่างานชิ้นนี้เกี่ยวกับอะไร จำนวนไม่เกิน 3 -5 คำ (คำสำคัญภาษาอังกฤษ ต้องสอดคล้องกับภาษาไทย)

 

            (ส่วนที่ 3)

           1. บทนำ (Introduction) /หลักการและเหตุผล

            นำเสนอความสำคัญและที่มาของปัญหาวิจัย ภูมิหลังของปัญหา ความจำเป็นที่จะทำการวิจัย หรือความสำคัญของโครงการวิจัย ฯลฯ ต้องระบุว่าปัญหาการวิจัยคืออะไร มีความเป็นมาหรือภูมิหลังอย่างไร มีความสำคัญ รวมทั้งความจำเป็น คุณค่าและประโยชน์ที่จะได้จากผลการวิจัยในเรื่องนี้ โดยผู้เขียนบทความวิจัยควรเริ่มจากการเขียนปูพื้นโดยมองปัญหาและวิเคราะห์ปัญหาอย่างกว้างๆ ก่อนว่าสภาพทั่วไปของปัญหาเป็นอย่างไร และภายในสภาพที่กล่าวถึง มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง ประเด็นปัญหานำมาศึกษาคืออะไร ระบุว่ามีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้วหรือยัง ที่ใดบ้าง และการศึกษาที่เสนอนี้จะช่วยเพิ่มคุณค่า ต่องานด้านนี้ ได้อย่างไร

            2. วัตถุประสงค์ในการวิจัย

            เป็นการกำหนดว่าต้องการศึกษาในประเด็นใดบ้าง ในเรื่องที่จะทำวิจัย ต้องชัดเจนและเฉพาะเจาะจง ไม่คลุมเครือ โดยบ่งชี้ถึงสิ่งที่จะทำ ทั้งขอบเขตและคำตอบที่คาดว่าจะได้รับทั้งในระยะสั้น และระยะยาว การตั้งวัตถุประสงค์ ต้องให้สมเหตุสมผล กับทรัพยากรที่เสนอขอและเวลาที่จะใช้

            3.  วิธีการศึกษา (Methodology)

            ระบุวิธีการศึกษาและรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีดำเนินการวิจัย ประกอบด้วย การบรรยายลักษณะของประชากรกลุ่มตัวอย่างและวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง ความสมบูรณ์ของกลุ่มตัวอย่าง นิยามตัวแปร เครื่องมือวิจัยและคุณภาพเครื่องมือ วิธีการรวบรวม รายงานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเฉพาะส่วนที่เป็นทฤษฎีและงานวิจัยที่จะนำไปสู่การสร้างกรอบแนวคิด รวมทั้งการตั้งสมมุติฐานในการวิจัย และวิเคราะห์ข้อมูล และข้อสังเกตที่สำคัญเกี่ยวกับวิธีดำเนินการวิจัย

             กรณีบทความวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคนหรือสัตว์ (แล้วแต่กรณี) ให้แนบหลักฐานรับรองหรือหนังสือการได้รับอนุญาตให้ทำการวิจัยจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนหรือสัตว์ (Ethics) เข้ามาในระบบของวารสารพร้อมระบุข้อความที่เกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยในเนื้อหาของบทความด้วย        

            4. ผลการศึกษา (Results)
            เสนอผลการวิจัยให้สอดคล้องครอบคลุมจุดมุ่งหมายของการวิจัย นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลให้สอดคล้องกับลักษณะของการวิจัย พร้อมทั้งการตีความมีการนำเสนอตารางและภาพประกอบเท่าที่จำเป็น ผลการวิเคราะห์ที่สำคัญในตารางหรือภาพประกอบต้องมีการบรรยายในส่วนที่เป็นข้อความด้วย มิใช่การเสนอตารางหรือรูปโดยไม่มีการบรรยาย

            5. ตารางและรูปภาพ

- ตาราง ให้จัดทำไฟล์ตาราง และตั้งชื่อไฟล์ให้สอดคล้องกับชื่อตารางที่ระบุไว้ในวารสาร 1 ไฟล์ : 1 ตาราง เช่นตารางที่ 1 ชื่อไฟล์ตารางที่ 1 พิมพ์ชื่อและลำดับที่ของตารางเหนือตารางตัวอักษรขนาด 16 และพิมพ์คำอธิบายเพิ่มเติมใต้ตารางตัวอักษรขนาด 14 ข้อความในตารางตัวอักษรขนาด 12 ตารางทุกตารางจะต้องมีหมายเลขและคำบรรยายกำกับเหนือตาราง หมายเลขกำกับและคำบรรยายนี้รวมกันแล้วควรจะมีความยาวไม่เกิน 1 บรรทัด

            การเรียงลำดับตารางและรูปภาพให้แยกการเรียงลำดับออกจากกัน พร้อมทั้งระบุหมายเลขลำดับตารางและรูปภาพในบทความให้เป็นรูปที่ และตารางที่ เช่น รูปที่ 1,รูปที่ 2 ตารางที่ 1,ตารางที่ 2

            6. การอภิปรายผลการศึกษา (Discussion)

            เป็นการบรรยายสรุปข้อค้นพบที่ตอบวัตถุประสงค์การวิจัย ประกอบการอธิบายว่าข้อค้นพบมีความขัดแย้ง/สอดคล้องกับสมมติฐานการวิจัยและผลงานวิจัยในอดีตอย่างไร พร้อมทั้งเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพื่อที่ให้คำวิจารณ์ แนะนำและอธิบายผลการวิจัยที่เกิดขึ้นให้ผู้อ่านเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนควรจะเขียนเปรียบเทียบผลที่ได้จากการวิจัยกับผลที่ถูกรายงานไว้แล้วในงานของคนอื่น หรือการใช้ข้อมูลของคนอื่นที่ทำก่อนหน้านั้นมาสนับสนุนผลการทดลอง สันนิษฐาน หรือข้อสรุป เพื่อเพิ่มนำหนักความน่าเชื่อถือ การอภิปรายข้อจำกัด/ข้อบกพร่อง ข้อดีเด่น ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอแนะในทางปฏิบัติและข้อเสนอแนะในการวิจัยต่อไป

            7. การสรุปผล (Conclusion) และประโยชน์ที่ได้จากการศึกษา

            เป็นการสรุปสิ่งที่ได้จากการศึกษาวิจัย สิ่งที่ควรจะต้องศึกษาวิจัยต่อไป ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ข้อดี ข้อเสีย ประโยชน์หรือการประยุกต์ใช้ ชี้ให้เห็นว่าประเด็นปัญหาสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการที่ได้ศึกษาวิจัยมาด้วยวิธีหรือกรอบแนวความคิดที่นำเสนอ

            8. ข้อเสนอแนะจากการวิจัย

            ให้ข้อเสนอแนะที่จะนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และให้แนวทางสำหรับการวิจัยต่อไป

 

            (ส่วนที่ 4)

            9. กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgements)

            หากต้องเขียนกิตติกรรมประกาศเพื่อขอบคุณบุคคลหรือหน่วยงานทีเกี่ยวข้องสามารถเขียนได้ โดยให้อยู่หลังเนื้อหาของบทความและก่อนเอกสารอ้างอิง

            10.เอกสารอ้างอิง (References)

            10.1 การเขียนอ้างอิงในเนื้อเรื่อง ให้ใช้ระบบ นาม-ปี (author-date citation system)    

            10.2 การเขียนอ้างอิง/บรรณานุกรมท้ายบทความ ให้อ้างอิงตามรูปแบบ APA (American Psychological Association)

            หมายเหตุ การเขียนเอกสารอ้างอิงให้เป็นไปตามรูปแบบการอ้างอิง ตามหัวข้อการอ้างอิง (สามารถ download ได้ที่นี่)

            ประวัติผู้เขียนและผู้ร่วมเขียน

            ประกอบด้วย ชื่อ-สกุล ,ประวัติทางการศึกษา, การทำงาน, กผลงานทางวิชาการที่ยอมรับ, ตำแหน่งหน้าที่, การทำงานปัจจุบัน

นโยบายส่วนบุคคล

             คำชี้แจงสิทธิส่วนบุคคล (Privacy statement)

             ชื่อและที่อยู่อีเมลที่ป้อนในเว็บไซต์วารสารนี้จะถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ที่ระบุไว้ในวารสารนี้เท่านั้นและจะไม่สามารถใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นใด            

 

             การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal data protection)

เป็นบทบาทของบรรณาธิการในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นความลับ บรรณาธิการจะขอหลักฐานเพิ่มเติมเช่น หนังสือยินยอมให้มีการเผยแพร่หรือรายงานจากคนไข้ หากบทความนั้นจำเป็นที่จะมีชื่อ หรือ รูปของคนไข้ปรากฏในรายงานหรือบทความอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ อย่างไรก็ตามบรรณาธิการสามารถตีพิมพ์บทความได้โดยไม่ต้องมีเอกสารยินยอมหากบทความนั้นแสดงให้เห็นความสำคัญต่อสุขภาพอย่างชัดเจน หรือมีความยากลำบากในการได้มาซึ่งเอกสารยินยอม และบุคคลผู้นั้นไม่คัดค้านต่อการตีพิมพ์เผยแพร่ ทั้งนี้บรรณาธิการจักต้องดำเนินการในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเต็มความสามารถ