No. 1 (2019): January - June

					View No. 1 (2019): January - June

บทบรรณาธิการ

วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 ฉบับนี้ได้ตีพิมพ์บทความ จำนวน 3 เรื่อง เป็นบทความวิจัย 2 เรื่อง และบทความวิชาการ 1 เรื่อง โดย บทความวิจัย เรื่อง “การสร้างรูปแบบกระบวนการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระหว่างฝ่ายปกครองกับผู้สูงอายุ: กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านยาง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์” เป็นบทความวิจัยเชิงผสมผสานระหว่างบทความวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณที่ผู้เขียนอาศัยกรอบทฤษฎีในเชิงยุทธศาสตร์ นโยบาย และกฎหมาย เพื่อค้นหากระบวนการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ได้ตัวแบบของกระบวนการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ และทิศทางของการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุ ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม สำหรับบทความ เรื่อง “การศึกษาความรู้ความเข้าใจเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็นบทความที่ผู้เขียนได้ใช้ข้อมูลจากเอกสารงานวิจัย แบบสอบถาม การอภิปรายกลุ่ม และสัมภาษณ์เชิงลึกจากบุคคลที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะทั้งภาครัฐและเอกชนในการวิเคราะห์ความรู้ความเข้าใจของประชาชน ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งส่วนท้องถิ่นและส่วนภูมิภาค และได้วิเคราะห์สถานการณ์และปัญหาการบุกรุกดังกล่าว เพื่อหาแนวทางการการแก้ไขปัญหาและให้เกิดประสิทธิภาพของการบริหารจัดการภาครัฐ และเพื่อให้ได้รูปแบบข้อบัญญัติท้องถิ่นในการบริหารจัดการปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดลำปาง ส่วนบทความวิชาการ เรื่อง “ศึกษาเปรียบเทียบความร่วมมือและการยุบรวมท้องถิ่นในต่างประเทศ: แนวทางการพัฒนาท้องถิ่นในประเทศไทย”
ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อเปรียบเทียบเกี่ยวกับแนวโน้ม ปัจจัย และกลยุทธ์ในการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองท้องถิ่น ผ่านมาตรการสร้างความร่วมมือและการยุบรวมท้องถิ่นในต่างประเทศ และเพื่อนำบทเรียนมากำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการปฏิรูปโครงสร้างท้องถิ่นไทย
โดยมีการชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากทั้งญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และเยอรมันว่าล้วนมีประสบการณ์ในการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นโดยผ่านมาตรการยุบรวมท้องถิ่นเข้าด้วยกัน ดังนั้น กรณีของประเทศไทยจึงมีความเหมาะสมมากกว่าการจัดตั้งองค์กรความร่วมมือระหว่าง
ท้องถิ่นในรูปแบบนิติบุคคล

นอกจากนี้ วารสารฯ ฉบับนี้ยังมีคอลัมน์ประจำที่ชื่อว่า “เปิดแฟ้มเรื่องร้องเรียน” เป็นการนำเสนอเรื่องร้องเรียนทั้งเชิงระบบและรายกรณีที่น่าสนใจ อีก 3 เรื่อง ได้แก่ การแก้ปัญหาเชิงระบบเกี่ยวกับปัญหาการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอต, ผู้ตรวจการแผ่นดินทวงคืนพื้นที่โบราณสถาน และ ผู้ตรวจการแผ่นดินกับการจัดการปัญหาขยะมูลฝอย

บทความวิจัยและบทความวิชาการข้างต้นได้ผ่านการอ่านประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญ กองบรรณาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วารสาร
ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านโดยเฉพาะนิสิต นักศึกษา และนักวิชาการ ในการศึกษาค้นคว้าข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผู้ตรวจการ
แผ่นดินและการบริหารจัดการภาครัฐได้เป็นอย่างดี

กองบรรณาธิการ

Published: 28.06.2019