ความเชื่อมโยงของแหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่นตามแนวเส้นทางโบราณ เชียงราย-เชียงแสน

ผู้แต่ง

  • เพ็ชรสวัสดิ์ กันคำ

คำสำคัญ:

วัฒนธรรมท้องถิ่น, เส้นทางโบราณ, เชียงราย-เชียงแสน, ภูมินาม

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาถึงความเชื่อมโยงของแหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่นตามแนวเส้นทางโบราณระหว่างเมืองเชียงรายและเมืองเชียงแสน โดยการนำเอาเทคโนโลยีทางด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ การสำรวจระยะไกล และแผนที่โบราณ มาใช้ในการวิเคราะห์หาแหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่นในพื้นที่ดังกล่าว ตลอดจนถึงการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของแหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งผ่านการเปลี่ยนแปลงมาอย่างยาวนาน รวมถึงการนำข้อมูลที่ได้จากศึกษาไปพัฒนาเป็นฐานข้อมูลและแผนที่ทางด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น

            จากผลการศึกษา พบว่าเส้นทางระหว่างเมืองเชียงรายและเมืองเชียงแสนเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญไม่ว่าจะเป็นด้านความสัมพันธ์ทางการค้า การเมือง การใช้เดินทัพยามศึกสงคราม ก่อให้การตั้งถิ่นฐานของชุมชนต่าง ๆ และเกิดแหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่น ศาสนสถานและแหล่งโบราณคดีทางประวัติศาสตร์ ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องการประวัติศาสตร์บ้านเมืองในแต่ละยุคสมัย มีความสำคัญในฐานะที่เป็นสถานที่เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และการพัฒนาบ้านเมือง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางความศรัทธาความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณี ประเพณีที่สำคัญต่างๆ จะถูกจัดขึ้นในแต่ละเดือนตลอดปีตามปฏิทินล้านนา บางประเพณีก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก บางประเพณีก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เข้าบริบทของพื้นที่และยุคสมัย ทำให้กลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและมีเสน่ห์ที่น่าดึงดูด ตลอดจนศิลปหัตถกรรมและภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน มีการสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นการสืบทอดโดยระบบครอบครัว ถ่ายทอดโดยผ่านระบบครูและศิษย์ หรือถ่ายทอดผ่านการศึกษาในวัด ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ศิลปหัตถกรรมและภูมิปัญญา สามารถดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมและวิถีชีวิต จึงทำให้การสืบทอดศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้มีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตและส่งผลให้องค์ความรู้ ภูมิปัญญาเหล่านั้น เกิดการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนและพัฒนาทั้งรูปแบบทางศิลปะ กระบวนการผลิต และการจัดการให้เข้ากับกลไกตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

            “ชื่อบ้านนามเมือง" หรือ”ภูมินาม” แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงบริบทของชุมชนที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ทั้งในอดีตและถึงปัจจุบัน ทั้งในด้านของลักษณะทางกายภาพ เช่น ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ พรรณพืช และพรรณสัตว์ เป็นต้น ตลอดจนสภาพสังคมและวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นที่มีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกันมาตั้งแต่ในอดีต วิถีชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม อาชีพ ตำนาน และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยภูมินามของหมู่บ้านตามแนวเส้นทางระหว่างเชียงรายและเมืองเชียงแสน สามารถจำแนกออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ 1) ภูมินามตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ 2) ภูมินามตามพรรณพืชพรรณสัตว์ 3) ภูมินามตามประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 4) ภูมินามตามตำนานและนิทานพื้นบ้าน 5) ภูมินามตามวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น 6) ภูมินามตามความเชื่อและค่านิยม และ7) ภูมินามตามลักษณะทางการปกครอง

References

ชรินทร์พรรณ อะสีติรัตน์. (2553). การจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กับวิถีชีวิตชุมชน กรณีศึกษาตลาดน้ำอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. (ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์).

ชูศรี เที้ยศิริเพชร. (2549). การจัดการท่องเที่ยวโดยเชื่อมโยงกับสินค้าท้องถิ่นในกลุ่มจังหวัดล้านนาและกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS). เชียงใหม่: คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ชูสิทธิ์ ชูชาติ. (2545). พ่อค้าวัวต่าง: ผู้บุกเบิกการค้าขายในหมู่บ้านภาคเหนือของประเทศไทย (พ.ศ. 2398-2503).เชียงใหม่: โรงพิมพ์แสงศิลป์.

ธวัช มณีผ่อง. (2548). โครงการประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นกับการจัดการทรัพยากรสาธารณะของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย. กรุงเทพฯ: ส่ำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอเชียงแสน พุทธศักราช 2500. (2500, 9 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 74 ตอนที่ 36. หน้า 565-567.

วาสนา ละอองปลิว. (2548). เชียงแสน การค้า การท่องเที่ยว และความสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่ชายแดน. กรุงเทพฯ: ส่ำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

โอฬาร รัตนภักดี และวิมลศิริ กลิ่นบุบผา. (2555). ภูมินามของหมู่บ้านในจังหวัดลำปาง. วารสารธรรมศาสตร์. 31(1), 140-169.

Sayamol Chairatudomkul. 2008. Cultural Routes as Heritage in Thailand: Case Studies of King Narai’s Royal Procession and Buddha’s Footprint Pilgrimage. Bangkok: Silpakorn University.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-06-08