บทบรรณาธิการ การบริหารจัดการยุค Digital Transformation

Main Article Content

ทิพย์พาพร มหาสินไพศาล

บทคัดย่อ

          ปัจจุบันนับเป็นยุคของข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีซึ่งทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ และสถานการณ์ต่างๆ ได้โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาหรือสถานที่ เนื่องจากคุณลักษณะของยุคดิจิทัลที่เน้นไปที่ความรวดเร็วในการสื่อสาร การจัดเก็บ การเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสาร และบูรณาการพัฒนาความรู้ เผยแพร่และแบ่งปันความรู้ได้กว้างขวาง ดังนั้น การบริหารจัดการยุค Digital Transformation จึงเป็นเรื่องที่ผู้นำองค์กรให้ความสำคัญและสร้าง Digital Technology มาเป็นเครื่องมือในการปรับใช้กับทุกภาคส่วนของธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงช่วยตอบโจทย์ธุรกิจใหม่ๆ โดยที่การบริหารจัดการกระบวนการ Digital Transformation นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยและข้อจำกัดที่ต่างกันในแต่ละองค์กร โดยเฉพาะปัจจัยด้านงบประมาณที่สูงเพื่อการก้าวกระโดดเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่


           การสำรวจของ Forbes พบว่า ธุรกิจกว่า 84% ประสบความล้มเหลวใน Digital Transformation เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่ขาดปัจจัยพื้นฐาน คือ ความชัดเจนของผู้นำองค์กร ความเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจ การวางแผนที่เหมาะสมและเป็นระบบ และการปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพของธุรกิจ


          กลยุทธ์ที่สำคัญสู่ความสำเร็จการบริหารยุค Digital Transformation ได้แก่


           - การวางรากฐานดิจิทัลขององค์กร เพื่อสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประกอบการตัดสินใจให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจ


           - การพัฒนาระบบกระแสข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงการแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในรูปแบบที่เปิดกว้าง


          - การต่อยอดหรือขยายตัวไปสู่การดำเนินนโยบายเชิงดิจิทัลในรูปแบบที่กว้างขวางและแปลกใหม่ขององค์กร


          - การพัฒนาบุคลากรและการปรับทักษะพื้นฐาน เพื่อให้บุคลากรมีความสามารถพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต


          ดังนั้น นักบริหารจัดการองค์กรจะต้องสามารถพัฒนาตนไปสู่ “Digital Leader” ผู้นำการเปลี่ยนแปลงองค์กรและบุคลากรให้ทำงานได้ดีภายใต้สภาพแวดล้อมยุคดิจิทัล เพื่อสร้างความแตกต่างและมุ่งสู่ความเป็นเลิศในการแข่งขันขององค์กรยุคดิจิทัล โดยเน้นการสร้างเครือข่าย การแบ่งปันและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในวงวิชาชีพและวิชาการ เพื่อให้ก้าวข้าม ยุค Digital Transformation ตามเป้าหมายที่องค์กรธุรกิจวางไว้


          โดยที่วารสารปัญญาภิวัฒน์ ปีที่ 10 ฉบับพิเศษ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในยุคดิจิทัล โดยมีการนำเสนอเนื้อหาผลงานวิจัยและวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่อง การบริหารจัดการธุรกิจ การจัดการเรียนการสอน การจัดการเกษตร รวมประเด็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในสาขาวิชาชีพต่างๆ อีกมากมาย ในเล่มวารสารรูปแบบ E-Journal เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงองค์ความรู้ การสืบค้นและการอ่านบทความในวารสารได้ตลอดเวลาในทุกที่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

Article Details

บท
บทบรรณาธิการ