ประชาธิปไตยไทย ในทศวรรษใหม่

Authors

  • รศ.ดร.จิราภรณ์ ขันทอง

Abstract

เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์               รัฐประศาสนศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ จำนวน 8 เรื่อง โดยบทความวิชาการเรื่องแรก ประชาธิปไตยไทยในทศวรรษ 21 : ทางตัน ทางออก และแนวทางแก้ไข โดย ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ได้นำเสนอบทความออกเป็น 5 ส่วน ส่วนแรกเป็นการเปิดมุมมองเกี่ยวกับหลักการและสาระสำคัญของประชาธิปไตย ส่วนถัดมา             เป็นการอธิบายถึงตัวแปรและโครงสร้างเพื่อการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย      โดยตั้งข้อสังเกตว่า “องค์กรจารีตนิยม” และ “กลุ่มบุคคลที่มีคุณสมบัติเหนือบุคคลทั่วไป” และมาถึงบทสรุป ท่านได้กล่าวถึงดุลยภาพระหว่างสิทธิเสรีภาพและอำนาจรัฐและผลกระทบที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย โดยใช้ภาพสี่เหลี่ยมผืนผ้าสื่อถึงดุลยภาพระหว่างองคาพยพ

           ประชาธิปไตยไทย : บางมุมมองที่ถูกละเลย โดย รองศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย             กล่าวว่า การศึกษาประชาธิปไตยในแงมุมที่ผ่านมายังขาดการศึกษาอย่างเพียงพอ หรือแม้จะมีการศึกษาก็จริงแต่ยังถูกละเลยที่จะนำการศึกษาดังกล่าวไปสู่การออกแบบทางสถาบันและกฎหมาย ทำให้การวิเคราะห์ปรากฏการณ์และการหาหนทางการพัฒนาประชาธิปไตย

           ความเหลื่อมล้ำกับความเป็นประชาธิปไตย โดย ดร.สมชัย จิตสุชน กล่าวว่า ความเชื่อมโยงกันระหว่างความเหลื่อมล้ำและความเป็นประชาธิปไตยของไทยว่ามีความเป็นเหตุเป็นผลระหว่างกันหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งนำเสนอทางออกให้ประเทศไทย ผลการสำรวจงานวิจัยต่าง ๆ ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำและประชาธิปไตย จากนั้นจึงเริ่มอธิบายให้เห็นถึงสภาพและแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย จากนั้นซ้อนทับด้วยการอธิบายภายใต้บริบทของความเป็นประชาธิปไตยไทยเป็นลำดับถัดมาความน่าสนใจของการนำเสนอในส่วนนี้ คือ เป็นการมองความเหลื่อมล้ำในมิติเชิงเปรียบเทียบบนความสัมพันธ์ของประชาธิปไตยซึ่งฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก

           การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ : การมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจและประชาธิปไตย โดย ศาสตราจารย์ ดร.มิ่งสรรพ ขาวสะอาด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง กล่าวว่า “การบริหารจัดการ

           ทรัพยากรธรรมชาติ : การมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ และประชาธิปไตย”                      ซึ่งบทความนี้เป็นการมอง “ประชาธิปไตย” ผ่านมิติเรื่องนโยบายสาธารณะโดยมีรูปธรรมที่นำมาอธิบายอย่างชัดเจนผ่านกรณีของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในฐานะเป็น โดยเริ่มจากการชี้ให้ถึงเห็นถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดการบูรณาการร่วมกันระหว่างกลไกต่างๆ ปัญหาการขาดความเข้าใจและความรู้เชิงพื้นที่ และการใช้ระบบการบริหารจัดการที่ไม่มีส่วนร่วมรวมทั้งการใช้เครื่องมือที่ไม่เหมาะสม ส่วนในบทสุดท้ายของบทความเรื่องนี้จะเป็นการสรุปปัญหาและเสนอวิธีการปฏิรูประบบคิด และเน้น “กระจายอำนาจ” เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ท้องถิ่น และการสร้างเข้มแข็งให้บุคลากร

           ประชาธิปไตยทางตรงกับความสำคัญของชุมชนท้องถิ่น โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม นักวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า “ประชาธิปไตยทางตรงกับความสำคัญของชุมชนท้องถิ่น” เน้นย้ำถึงเจตนารมณ์ในการเขียนบทความนี้ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของชุมชนท้องถิ่น เพราะถือว่าชุมชนท้องถิ่นเป็นรากฐานของประชาธิปไตย และย้ำว่าการให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นเป็น “มรรควิธี”ที่จะนำชุมชนไปสู่การจัดชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองและการพึ่งตนเองของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

           ระบบราชการกับการเคลื่อนตัวสู่ทศวรรษหน้า โดย ดร. อรพินท์ สพโชคชัย ท่านเป็นนักวิชาการอิสระ ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ได้กล่าวว่า “ระบบราชการกับการเคลื่อนตัวสู่ทศวรรษหน้า” จึงเริ่มต้นที่จะสะท้อนให้เห็นถึงการเคลื่อนตัว หรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิ ระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคโลกาภิวัตน์ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสาร คมนาคมที่รวดเร็ว รวมถึงความเปลี่ยนแปลงในเชิงประชากรศาสตร์

การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง (Civic Education) : แก้ปัญหาการเมืองไทยโดยสร้างประชาธิปไตยที่ “คน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ได้กล่าวว่า “ความล้มเหลวของประชาธิปไตยในประเทศไทย” ว่าแท้จริงแล้วเกิดจากการขาด “ศรัทธา” และ “ความเข้าใจ” ต่อระบอบประชาธิปไตย จึงทำให้ไม่สามารถใช้วิถีทางประชาธิปไตยมาแก้ไขปัญหา และไม่สามารถปกครองกันในระบอบประชาธิปไตยได้ จากนั้นได้ตั้งคำถามที่ชวนให้คิดว่า “หรือจะเป็นเพราะประชาธิปไตยไม่เหมาะกับประเทศไทย” และก็ได้ย้อนไปถึงประวัติศาสตร์และพัฒนาการที่เกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน และอังกฤษ ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้ข้อเท็จจริงว่าแท้จริงแล้วไม่มีประเทศใดเลยที่ไม่เคยล้มเหลวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนำมาสู่การตั้งคำถามอีกครั้งว่า “ประชาธิปไตยที่เราอยากจะเผยแพร่ อยากจะปลูกฝัง อยากจะสร้างจิตสำนึก คืออะไร”

           ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ สร้างได้แน่ โดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ได้กล่าวว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ สร้างได้แน่” โดยเนื้อหาชี้ให้เห็นถึงปัญหาของประชาธิปไตย และชวนให้ท่านผู้อ่านตีความหมายของคำว่าประชาธิปไตยให้กว้างกว่าการอธิบายว่าประชาธิปไตย คือ การมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง บทความนี้ท้าทายให้คิดร่วมกันว่า “ประชาธิปไตยรูปแบบไหนที่จะทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น..แล้วหมดไปหรือเกิดน้อยลง” จึงได้มีการหยิบยกประชาธิปไตยในรูปแบบต่างๆ มานำเสนอเพื่อให้เห็นจุดเหมือน จุดต่าง และจุดเน้นที่แตกต่างกันไปและความเหมาะสมในแต่ละบริบท นอกจากนี้แล้วในบทความนี้ยังมีการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยบางส่วนที่เกี่ยวกับการวัดระดับความเป็นประชาธิปไตยของคนไทยเพื่อที่จะสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีความเข้าใจและให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยอย่างไร อาทิ การเห็นในประโยชน์และคุณค่าของประชาธิปไตย ความต้องการประชาธิปไตยของคนไทย และการยอมรับในการปกครองรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เป็นต้น ซึ่งการนำเสนอในส่วนนี้จะมีข้อมูลเชิงสถิติเพื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและนัยสำคัญที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ในส่วนท้ายของบทความนี้ผู้เขียนได้ชวนให้คนไทยร่วมกันยกเครื่องรัฐเพื่อยกเครื่องประชาธิปไตยของไทยร่วมกัน

           กล่าวสรุปได้ว่า บทความทั้ง 8 เรื่องดังกล่าวข้างต้น เป็นการฉายภาพให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “ประชาธิปไตยไทย” ในช่วงปี 2558–2559 โดยผ่านมุมมองที่แตกต่างกันของนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ และประการสำคัญบทความทั้งหมดได้ให้ข้อเสนอแนะ ที่มีคุณค่าและน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย

Downloads

Published

2019-12-30

How to Cite

ขันทอง ร. (2019). ประชาธิปไตยไทย ในทศวรรษใหม่. Pathumthani University Academic Journal, 11(2), 344–346. Retrieved from https://so05.tci-thaijo.org/index.php/ptujournal/article/view/233138