การเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมพื้นฐานและโครงสร้างพื้นฐาน ของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง

ผู้แต่ง

  • คงกระพัน อินทรแจ้ง

คำสำคัญ:

อุตสาหกรรมพื้นฐานและโครงสร้างพื้นฐาน, โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก, การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี, ดิจิทัล, รถยนต์ไฟฟ้า

บทคัดย่อ

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์หา Disruptive Technology ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมพื้นฐานและโครงสร้างพื้นฐานในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) ทั้งในด้านที่เป็นภัยคุกคามและโอกาส และเสนอแนวทางในการเตรียมความพร้อม การปรับปรุงและการปรับตัว ต่อภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคการศึกษา ให้สามารถจัดการกับ Disruptive Technology ได้อย่างเหมาะสม โดยมีขอบเขตการวิจัยโดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมพื้นฐานและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและมีผลต่อความสำเร็จของ EEC และมุ่งเน้น Disruptive Technology ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมพื้นฐานและโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น ทั้งนี้ในส่วนของการเสนอแนะแนวทางการเตรียมความพร้อมและการปรับตัว จะมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมและการพัฒนาด้านทรัพยากรบุคคล การวิจัยนี้ดำเนินการวิจัยโดยการเก็บข้อมูลด้วยเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึกจากภาคเอกชน ภาครัฐและภาคการศึกษาอย่างเจาะจง การวิเคราะห์ภัยคุกคามและโอกาส ทำการตรวจสอบและวิเคราะห์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะ  

               ผลการวิจัยพบว่าอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อ EEC ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อ EEC ได้แก่ ระบบสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ และในส่วนของ Disruptive Technology ที่มีผลต่ออุตสาหกรรมพื้นฐานและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ Digitalization และรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Car ผู้วิจัยได้สรุปข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมและการปรับตัวสำหรับแต่ละภาคส่วนดังนี้ ภาครัฐควรปรับกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่นและให้การสนับสนุนในด้านนโยบายและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ พร้อมทั้งเป็นตัวกลางในการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในส่วนภาคเอกชนควรนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน และภาคการศึกษาควรทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของภาคเอกชน ทั้งนี้พื้นฐานที่สำคัญที่สุดซึ่งจะทำให้ทุกภาคส่วนสามารถปรับตัวเข้ากับ Disruptive Technology ได้ คือ ทุกองค์กรต้องปรับเปลี่ยน Mindset ของบุคลากรและวัฒนธรรมขององค์กร ให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและพร้อมที่จะปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยหากทั้ง 3 ภาคส่วน สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะได้อย่างเป็นรูปธรรม และร่วมมือกันเตรียมความพร้อม จะทำให้โครงการ EEC ประสบความสำเร็จและประเทศไทยบรรลุเป้าหมายเป็นประเทศพัฒนาแล้วและหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างยั่งยืน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-09-24