ประเพณีลายลักษณ์ในชุมชนลุ่มทะเลสาบสงขลา : วัฒนธรรมแห่งความรู้จากยุคตัวเขียนสู่ยุคการพิมพ์ (2)

Authors

  • วินัย สุกใส มหาวิทยาลัยทักษิณ

Abstract

หากมองอย่างผิวเผิน สังคมชาวนาในอดีตดูเหมือนจะเป็นสังคมอิสระที่สามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสังคมอื่นมากนัก  โดยเฉพาะสังคมเมือง   แต่เมื่อมองลึกลงไปถึงในรายละเอียดก็จะพบว่าในสภาพความเป็นจริงแล้ว  สังคมชาวนาจะมีความสัมพันธ์กับสังคมเมืองมาตลอด  ดังนั้น แม้จะมีข้อสรุปว่า การถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคมชาวนาเป็นการถ่ายทอดด้วยประเพณีมุขปาฐะอันเป็นวัฒนธรรมราษฎร์  แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธการดำรงอยู่ของประเพณีลายลักษณ์อันเป็นลักษณะของวัฒนธรรมหลวงได้  ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมทั้ง ๒ ลักษณะนี้ไม่ได้เป็นอิสระขาดจากกัน  หากแต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันอยู่ตลอดเวลา   ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมราษฎร์และวัฒนธรรมหลวงมีลักษณะเป็นปฏิสัมพันธ์ในลักษณะ ‘ยืมกันไป ยืมกันมา’ (ศิราพร  ฐิตะฐาน ณ ถลาง, 2537, น. 44 ) สังคมชาวนาลุ่มทะเลสาบก็หาแตกต่างไปจากสังคมชาวนาอื่น ๆ ไม่   ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างชุมชนชาวนาลุ่มทะเลสาบกับสังคมเมืองและเมืองหลวงจึงดำรงอยู่อย่างเห็นได้ชัดตลอดมา  

สังคมชุมชนรอบทะเลสาบสงขลาในอดีตส่วนใหญ่เป็นสังคมชาวนา หรือสังคมเกษตร  ซึ่งยงยุทธ  ชูแว่น (2541, น. 86-88.) ได้กล่าวถึงลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนชาวนาลุ่มทะเลสาบสงขลาตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นไว้ว่า  ในสมัยอยุธยา ระบบสังคมของชุมชนชาวนามี 2 แบบ คือ ชาวนาส่วนที่อยู่ในระบบไพร่ซึ่งถูกควบคุมดูแลโดยขุนนางหรือนายระดับย่อยที่เป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์กับชาวนาส่วนที่เป็นข้าพระหรือเลกวัดที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสถาบันสงฆ์ ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  สังคมชาวนาที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของสถาบันสงฆ์ก็ลดบทบาทลง  ในขณะที่ในระบบไพร่ก็มีความสำคัญมากขึ้นจนกลายเป็นสังคมส่วนใหญ่ในเวลาต่อมา   แม้ชุมชนชาวนาดังกล่าวจะดำรงชีวิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบพอยังชีพเหมือนกัน  แต่ระบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกลับมีความแตกต่างกัน  กล่าวคือ ส่วนที่อยู่ในระบบไพร่ก็จะมีพันธะทางด้านเศรษฐกิจกับขุนนางหรือนายตามระบบส่วยสาอากร  การเกณฑ์แรงงานจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อเก็บส่วยสินค้าเป็นหลัก  แล้วระบายออกสู่เมืองท่าที่สงขลา  ในขณะที่ส่วนที่เป็นข้าพระหรือเลกวัด  ก็จะต้องอยู่ในระบบเศรษฐกิจของวัดอย่างเคร่งครัด  ผลผลิตในที่ดินของวัดซึ่งมีมากเกินบริโภคก็อาจระบายเป็นสินค้าไปยังต่างประเทศได้

ลักษณะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสังคมของชุมชนลุ่มทะเลสาบกับชุมชนเมืองและเมืองหลวงดังกล่าวย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือตำนาน “หลวงพ่อทวด” ที่เกี่ยวข้องกับอยุธยา  ไม่ว่าจะเป็นตำนานที่เป็นวาทกรรมของท้องถิ่นหรือตำนานที่เป็นวาทกรรมจากเมืองหลวงได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของ “ปราชญ์” หรือ “ผู้รู้” ในชุมชนกับเมืองหลวงได้อย่างชัดเจน  ในขณะที่หนังสือ “ประชุมพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยอยุธยา ภาค 1” และ “แผนที่ภาพเมืองนครศรีธรรมราช” ที่นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการผลิตระหว่างชุมชนชาวนาลุ่มทะเลสาบกับวัดและเมืองหลวงไว้อย่างชัดเจนแล้ว  ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของ “วัฒนธรรมลายลักษณ์” ของเมืองหลวงกับท้องถิ่นอีกด้วย

ในกระบวนการสร้างและเสพย์วรรณกรรมของชุมชนลุ่มทะเลสาบสงขลานับตั้งแต่กลางสมัยอยุธยาเป็นต้นมาจึงมีหลักฐานแน่ชัดถึงการดำรงอยู่ของ “วัฒนธรรมลายลักษณ์” ในหมู่ “นักปราชญ์” ของชุมชนที่สัมพันธ์กับ “วัฒนธรรมหลวง” อย่างใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์กับผู้คนที่มีทั้งผู้รู้และผู้ไม่รู้ “หนังสือ”  ในสังคม “วัฒนธรรมมุขปาฐะ”  ในลักษณะของการแต่งหรือสร้าง “หนังสือ” และถ่ายทอด “หนังสือ” เหล่านั้นไปสู่กลุ่มคนในชุมชนโดยวิธีการสวดและปรับเปลี่ยนเป็นการละเล่นในโอกาสต่าง ๆ  และพัฒนาไปสู่ประเพณีการถ่ายทอดวัฒนธรรมทางวรรณกรรมที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมมุขปาฐะกับวัฒนธรรมลายลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในบริเวณชุมชนลุ่มทะเลสาบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

Downloads

Published

2019-08-01

How to Cite

สุกใส ว. (2019). ประเพณีลายลักษณ์ในชุมชนลุ่มทะเลสาบสงขลา : วัฒนธรรมแห่งความรู้จากยุคตัวเขียนสู่ยุคการพิมพ์ (2). RUSAMILAE JOURNAL, 40(2), 33–44. Retrieved from https://so05.tci-thaijo.org/index.php/rusamelae/article/view/225754