พฤติกรรมการเก็บและทัศนคติการอนุรักษ์เห็ดเสม็ดของชาวบ้านในพื้นที่ อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง

Main Article Content

ลัดดาวัลย์ แก้วส่งแสง
เตือนใจ ปิยัง
สุวิทย์ จิตรภักดี
สุดคนึง ณ ระนอง
พิณทิพย์ จันทรเทพ
อมรรัตน์ อังอัจฉะริยะ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรเห็ดเสม็ดให้ยั่งยืน โดยทำการวิจัยแบบผสม ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ ทำการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ที่เข้ามาเก็บเห็ดเสม็ดในอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ได้แก่ พื้นที่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง พื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และพื้นที่หาดคลองสน ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง รวมจำนวน 150 คน มีระยะเวลาที่ทำการศึกษาระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า 1) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุเฉลี่ย 42 ปี 5 เดือน (S.D. = 13.33) ระดับการศึกษาสูงสุดประถมศึกษา ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพาราและทำสวนปาล์ม 2) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 83.3)   เก็บเห็ดเสม็ดในพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง บริเวณต้นเสม็ดขาว โดยมีจุดประสงค์เพื่อการบริโภคเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงกลุ่มตัวอย่างบางส่วน ที่เก็บเห็ดเสม็ดเพื่อขายสร้างรายได้ทั้งในตลาดท้องถิ่นและบริเวณริมทาง มีรายได้เฉลี่ย 351บาทต่อครั้ง มีน้ำหนักสดของเห็ดเสม็ดที่เก็บได้ประมาณ 4.2 กิโลกรัมต่อครั้ง เห็ดเสม็ดส่วนใหญ่มีขนาดประมาณ          2 - 4 เซนติเมตร กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีประสบการณ์เก็บเห็ดเสม็ดประมาณ 5 - 10 ปี ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ว่า สภาพแวดล้อมก่อนการงอกของเห็ดเสม็ด จะมีฝนตกหนักและอากาศหนาว หลังจากนั้นประมาณ 2 - 3 วัน จะเกิดการงอกของเห็ดเสม็ด บริเวณดินที่มีความชื้น ภายใต้ใบไม้ทับถม และมีหญ้าขนาดเล็กเจริญอยู่ด้วย 3) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์เห็ดเสม็ด ระดับมาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.86 (S.D = 0.92) ควรมีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาพัฒนาการงอกและการเจริญเติบโตของเห็ดเสม็ดและพัฒนาความรู้ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูเห็ดเสม็ดให้กับประชาชนในชุมชน 4) ผลการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างแสดงความคิดเห็นว่า ไม่ควรเก็บดอกเห็ดขนาดเล็กที่มีทีมีขนาดหมวกดอกต่ำกว่า 2 เซนติเมตร มีความต้องการให้มีการขยายพันธุ์เห็ดเสม็ดให้มากขึ้น เพื่อให้เห็ดงอกตลอดทั้งปี ควรมีการอนุรักษ์พืชอิงอาศัย และกำหนด กติกา ในการเก็บเห็ดเสม็ด

Article Details

บท
บทความวิจัย