บทวิจารณ์หนังสือเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เกณฑ์และการเตรียมตัว

Authors

  • ปทุมทิพย์ ม่านโคกสูง

Abstract

หนังสือเรื่อง เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เกณฑ์และการเตรียมตัว แต่งโดย ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ด้วยผู้เขียนมีประสบการณ์ในแวดวงการศึกษาระดับอุดมศึกษามานาน มีประสบการณ์ด้านการศึกษามาก ได้เห็นความสำคัญของการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ตั้งแต่ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ กรปรกับที่ผู้เขียนได้บรรยายวิชาการเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ หลายครั้งจึงได้พิจารณาการรวบรวมคำบรรยายเพื่อจัดทำเล่มและการเผยแพร่อีกทั้งการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการมีความสำคัญมากสำหรับอาชีพอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ในส่วนผู้วิจารณ์ซึ่งมีฐานะเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่ยังไม่ได้ขอตำแหน่งทางวิชาการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องพัฒนาตนเองให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการ และประการสำคัญคือสำนักงานการอุดมศึกษาได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา ในมาตรา 78 มีข้อความที่มีส่วนกดดันให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงการพัฒนาตนเพื่อการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ “..มาตรา 78 พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งดำรงตำแหน่งในสายวิชาการ หากไม่ได้รับตำแหน่งทางวิชาการภายในระยะเวลา.... ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 64 (อธิการบดี) สั่งให้ผู้นั้นออกจากงาน... ดังนั้น ผู้วิจารณ์จึงสนใจที่จะหยิบหนังสือเล่มนี้มาวิจารณ์เพื่อประโยชน์ต่อทั้งมวลมิตรผู้จะพัฒนาตนเองสู่ตำแหน่งทางวิชาการและการพัฒนาการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต่อไป

หนังสือ เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เกณฑ์และการเตรียมตัว ถูกแบ่งเป็นสี่บทที่มีการเรียงลำดับหัวข้อคือ หนึ่ง ก้าวสู่มหาวิทยาลัยตามมาตรฐานสากล สอง การเตรียมการสอนเพื่อเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ สาม วิจัยอย่างไรให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการ สี่ เขียนอย่างไรให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการผู้วิจารณ์อ่านหนังสือเล่มนี้จบลงและพบว่าหนังสือเล่มนี้มีจุดเด่นที่น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่การเขียนตามลำดับหัวข้อดังกล่าว ทำให้ผู้อ่านสามารถเรียงลำดับความเข้าใจในเนื้อที่เป็นขั้นตอนที่เห็นกระบวนการทำผลงานทางวิชาการที่ผู้เขียนลำดับเนื้อหาได้ชัดเจนและผู้อ่านสามารถเข้าใจขั้นตอนดังกล่าวได้ง่ายด้วย เพราะลำดับหัวข้อทำให้เห็นขั้นตอนการจะเริ่มทำผลงานทางวิชาการ ซึ่งผู้อ่านจะสามารถนำมาปรับใช้ได้กับการเริ่มต้นในบางคนที่ยังนึกภาพไม่ออก เริ่มจากผู้เขียนกล่าวถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัยที่ต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องมีการแข่งขันในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศไทยเอง ด้านกติกาการจ้างงานกับบุคลากร โดยมีกติกาที่เปลี่ยนไปที่สำคัญคือ การทำผลงานทางวิชาการ ความสามารถในการทำวิจัย  ความสำคัญของกติกา ที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยตามมาตรฐานสากล จึงมีกติกาใหม่และแนวทางการปฏิบัติซึ่งผู้เขียนได้บรรยายให้เห็นถึงผลการปฏิบัติในแนวทางใหม่ที่อาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติ คือการมีคุณวุฒิปริญญาเอก การมีตำแหน่งทางวิชาการ อีกทั้ง อาจารย์ที่อยู่ในตำแหน่งบริหารมีเงื่อนไขที่ต้องมีตำแหน่งทางวิชาการและจบระดับปริญญาเอก  สาระเหล่านี้เป็นกติกาที่ผู้เขียนชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่มหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยน ดังนั้น อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัวให้ได้ในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านดังกล่าว ข้อคิดเห็นของผู้เขียนที่ฝากไว้เป็นแนวทางที่จะทำให้มหาวิทยาลัยในไทยก้าวทันชาติตะวันตกได้ก็ด้วยการเรียนรู้ ทำความเข้าใจและหาวิธีปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ให้ได้ และใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสในสถานการณ์ใหม่ เพื่อพัฒนาตนเองสู่ตำแหน่งทางวิชาการให้ได้  ในส่วนหัวข้อที่สอง คือเรื่องการเตรียมการสอนเพื่อเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ ผู้เขียนได้จัดลำดับหัวข้อ มี สามหัวข้อใหญ่ ซึ่งมีความสัมพันธ์กันคือ 1) บทบาทและความรับผิดชอบของผู้บริหารและการแบ่งรูปแบบของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวเนื่องกับบทบาทความรับผิดชอบของผู้บริหารเพราะมีความสำคัญต่องานวิชาการมาก  และพูดถึง 2) หลักเกณฑ์การสอนและการประเมินการสอน  สุดท้าย 3)ข้อคิดทางการสอนเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพของการสอนและการเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ ผู้เขียนสามารถถ่ายทอดสาระที่ดูว่ายากออกมาเป็นเนื้อหาในกรอบที่สรุปข้อมูลได้สั้นกระชับแต่เข้าใจได้รวดเร็ว เช่น กลุ่มผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ที่อ่านแล้วทราบลำดับความสัมพันธ์เชิงการบริหาร อีกส่วนคือการอธิบายรูปแบบขององค์กรมหาวิทยาลัย 5 แบบซึ่งในทั้งหมดจะเน้นงานวิจัยที่มีความเข้มข้นต่างกัน เช่น มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบมีทุกสาขา เน้นงานวิจัยประมาณ 50%ของอาจารย์ควรทำวิจัย และอีกแบบคือวิทยาลัยชุมชน ซึ่งน่าจะเน้นวิจัยประมาณ 10% การเน้นให้ผู้อ่านโดยเฉพาะอาจารย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่การวิจัยต้องมี คู่กับการสอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่เป็นจุดเด่นในส่วนนี้คือวิธีการประเมินการสอน การประเมินเอกสารคำสอนและเอกสารประกอบการสอน องค์ประกอบของเอกสารหลักสูตรที่ถูกเขียนในกรอบ และสรุปท้ายหัวข้อผู้เขียนได้สรุปอย่างชัดเจนในการเตรียมการสอนเพื่อขอรับการประเมินเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการและเห็นขั้นตอนตามลำดับคือ การวางแผน เตรียมการ ดำเนินการสอน และประเมินผลผู้เรียน และประเมินการสอนให้ดีที่สุดในทุกขั้นตอน หัวข้อที่สาม วิจัยอย่างไรให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการ เป็นหัวข้อที่ผู้เขียนบรรยายไว้ดีมากเห็นรายละเอียดชัดเจนและมีความลุ่มลึก ในการวางแผนชีวิตใน Career Path ทำให้ผู้อ่านโดยเฉพาะอาจารย์จะสามารถวิเคราะห์ เส้นแบ่งเวลาชีวิต วิเคราะห์ตนเอง เพื่อให้เข้าใจว่าจะวางแผนทำงานในช่วงเวลาใด ในการวิจัยเกี่ยวข้องที่ตัวอาจารย์จะดำเนินการเพื่อการได้มาอย่างน้อย คือ การสอน ความดีความชอบ และตำแหน่งทางวิชาการ  การออกแบบการวิจัยที่สกัดอยู่ในกรอบ (Power Point) ที่สรุปอ่านง่าย ผู้เขียนให้กำลังใจในสาระข้อคิดเห็นในการสร้างงานวิจัยและแนวปฏิบัติเฉพาะบุคคล คือ กำลังใจ ซึ่งผู้วิจารณ์เห็นว่าอาจารย์หลายๆท่านที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะมีกำลังใจที่มีความชัดเจนว่าจะเริ่มทำผลงานวิจัย เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการอย่างไร มีกำลังใจทีเกิดขึ้นด้วยตัวเราให้เข้าใจตัวเอง ว่าจะ ต้องมีขั้นตอนอย่างไร มีความสม่ำเสมอ ต้องทำวิจัยใหม่ๆที่นำไปใช้ได้เกิดประโยชน์ หัวข้อสุดท้ายที่ผู้เขียนนำเสนอคือการเขียนอย่างไรให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการ  ที่น่าสนใจที่ผู้วิจารณ์อ่านแล้วมองเห็นว่า ผู้เขียนมีจุดเด่นที่ทำให้หนังสือมีคุณค่าคือการนำเสนอว่า งานวิชาการมี เอกสารคำสอน บทความทางวิชาการ ตำรา หนังสือ งานวิจัย และผลงานทางวิชาการอื่นๆ เป็นการเขียนอธิบายคำที่อ่านเข้าใจง่ายและมีตัวอย่างควบคู่ด้วย ในอีกสาระที่เด่นเพราะเป็นเรื่องที่อาจารย์มองข้ามคือเกณฑ์คุณภาพตามที่ ก.พ.อ. กำหนด คือ ระดับแรก คือตำรา/หรือหนังสือ ระดับดี  ระดับสอง ตำรา/หนังสือ ระดับดีมาก และ ระดับสาม ตำรา/หนังสือ ระดับเด่น  ในแต่ละระดับมีการอธิบายเกณฑ์ที่ชัดเจนมาก สั้นกระชับแต่เข้าใจง่าย ส่วนสำคัญที่ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้เขียนให้สาระสำคัญในตอนท้ายเล่มคือ การเผยแพร่ผลงาน  การเพิ่มคุณภาพให้ตำรา และจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ เพราะเนื้อหาสาระส่วนนี้มีความสำคัญที่ผู้เขียนต้องการให้อาจารย์ ปฏิบัติและเป็นเกณฑ์ที่ผู้เสนอผลงานทางวิชาการต้องถึงเกณฑ์ทั้งหมดที่กำหนดโดย ก.พ.อ. ส่วนทิ้งท้ายในหนังสือคือ ปัญหาของการเขียนที่ผู้เขียนสรุปปัญหาที่ผู้เขียนได้ประสบและต้องการนำเสนอให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้รับรู้ไว้เพื่อป้องกันการเกิด ปัญหาและการแก้ไขปัญหาไว้ล่วงหน้า ของฝากที่ผู้เขียนฝากคาถา 3 คำ คือ เขียนนะ เขียน และ เขียน อีกเช่นเดียวกัน

บทสรุป ผู้วิจารณ์เขียนบทวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ ด้วยแรงจูงใจสำคัญ มีข้อสังเกตที่จะจุดประกายผู้อ่านให้หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน ด้วยมีเป้าหมายสำคัญคือการขอตำแหน่งทางวิชาการ  หนังสือเล่มนี้ผู้วิจารณ์ได้เห็นว่า การเรียงลำดับหัวข้อเพื่อนำเสนอสาระมีความต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ ต้นน้ำ เห็นการเริ่มต้นว่าสำคัญและจำเป็นอย่างไรเพราะอะไรที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องมีตำแหน่งทางวิชาการ  กลางน้ำ คือการปฏิบัติการในแต่ละส่วนเพื่อผลิตผลงานทางวิชาการที่มีความชัดเจนมากเพราะสาระที่ผู้เขียนนำเสนอมีความชัดเจนกระชับ และ ปลายน้ำคือ ผลงานที่ผลิตออกมาต้องมีคุณภาพตามเกณฑ์กำหนด รวมทั้งกฎแห่งตนเองคือ จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการที่มีความสำคัญมาก   ข้อสังเกตที่ผู้วิจารณ์เห็นในงานหนังสือเล่มนี้คือ การนำบทบรรยายทางวิชาการที่ผู้เขียนสรุปจากการไปบรรยายมารวบรวมไม่ได้ทำให้สาระในกรอบ (Power point) มีความเป็นวิชาการตึงมากจนเกินไปซึ่งไม่ทำให้ผู้อ่านเครียด ประกอบกับการใช้ภาษาที่ง่ายไม่ใช้ศัพท์ทางวิชาการมากเกินไป แต่มีกรอบภาษาอังกฤษ     ที่ปรากฏในเล่มฝึกฝนการอ่านภาษาอังกฤษที่ได้คำศัพท์ทางวิชาการภาษาอังกฤษด้วย และที่สำคัญ หนังสือใช้ชื่อ สื่อให้ทราบว่าการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ มีเกณฑ์อะไรบ้าง และต้องเตรียมตัวอะไรและอย่างไร ผู้เขียนตอบได้ชัดเจนและลุ่มลึกในเนื้อหา หากหนังสือเล่มนี้ซึ่ง ได้ทำรูปเล่มเป็นเล่มใหญ่ก็คงไม่น่าหยิบจับขึ้นมาอ่านเท่ากับการทำให้หนังสือกึ่งวิชาการเล่มนี้เป็นเล่มเล็กจิ๋วแต่คุณภาพและสาระไม่เล็กเหมือนรูปเล่มเลย.

Downloads

How to Cite

ม่านโคกสูง ป. (2014). บทวิจารณ์หนังสือเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เกณฑ์และการเตรียมตัว. Creative Science, 5(10), 179–182. Retrieved from https://ph01.tci-thaijo.org/index.php/snru_journal/article/view/16865