การมีส่วนร่วมและทุนทางสังคมที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน กรณีศึกษา ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

Main Article Content

ทับทิม สุขพิน
นพวรรณ ธรรมสิทธิ์
สิมินตราพร สุรินทร์

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมและทุนทางสังคมที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน กรณีศึกษา ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นการศึกษาที่มีวัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อสำรวจการมีส่วนร่วมและทุนทางสังคมในพื้นที่หมู่บ้านศิริราษฏร์ ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย 2. เพื่อค้นหาแนวทางการมีส่วนร่วมและการใช้ทุนทางสังคมที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน


               ในการศึกษาวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและได้เก็บข้อมูล โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ได้ใช้วิธีสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง โดยเลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informants) เป็นตัวแทนของครัวเรือนในหมู่บ้านบ้านศิริราษฏร์ จำนวน 173 คน และผู้นำชุมชน 3 คน รวมทั้งสิ้น 176 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบสังเกตุการณ์ แบบสอบถาม ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยความถี่สะสม ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย


               ผลการศึกษาวิจัยพบว่า 1. การมีส่วนร่วมและทุนทางสังคมในพื้นที่หมู่บ้านศิริราษฏร์ ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย มีความเข้มแข็งในระดับมาก ซึ่งพื้นฐานของกลุ่มประชาชนมีความมั่นคงสูง มีความไว้วางใจและสามารถพึ่งพาต่อกันในชุมชนได้ระดับสูงมาก การเข้าไปมีส่วนร่วมในการสืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชน รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชาวบ้านมีความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยกิจกรรมกลุ่มต่างๆ ได้จัดตั้งขึ้นภายใต้ความคิดริเริ่มและการแสวงหาการพัฒนาของชาวบ้านเองและมีการสนับสนุนจากผู้นำชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งแม้ว่าในการเริ่มต้นของการรวมกลุ่มนั้นชาวบ้านในชุมชนอาจจะไม่สนใจและไม่ให้ความร่วมมือมากนัก แต่ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในชุมชนที่เหนียวแน่น ได้ทำให้เกิดแรงจูงใจในการร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในอนาคต ส่วนทุนทางสังคมด้านเศรษฐกิจและด้านความมั่นคงกับการบริหารจัดการของหมู่บ้านศิริราษฏร์นั้น พบได้ว่าในชุมชนบ้านศิริราษฏร์มีความพร้อมและศักยภาพในระดับสูง ทั้งทางสังคมในภาพรวมและกลุ่มคณะผู้นำและผู้บริหารชุมชน พิจารณาได้จากชาวบ้านในชุมชนมีการรับรู้และสนใจในสภาพแวดล้อมทางสังคมของชุมชนตนเอง และมีความเชื่อมั่น ไว้วางใจต่อตัวผู้นำและคณะผู้บริหารที่เป็นทางการในชุมชน ซึ่งกลุ่มผู้นำก็มีการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบในการพัฒนางานตามหน้าที่ที่มีต่อชุมชนอย่างชัดเจน เป็นผลให้ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านในชุมชนสูงมาก


  1. มีแนวทางการมีส่วนร่วมและการใช้ทุนทางสังคมที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประกอบด้วย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในชุมชน ด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคงและการบริหารจัดการ

Article Details

บท
บทความ

References

กรมการพัฒนาชุมชน. (2544). "การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน" วิสัยทัศน์มหาดไทย พ.ศ.2545-2544. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2558, จาก http://www.moi.go.th/serve.htm..

ประกาศิต (พระมหา) สิริเมโธ (ฐิติปสิทธิกร). (2556). ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ของชุมชนบ้านคลองใหม่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม. ปริญญานิพนธ์, พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม, นครปฐม : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

นิธินาถ เจริญโภคราช. (2554). ศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของชุมชนริมคลองเพื่ออนุรักษ์ ความหลากหลายของชนิดนกและพันธุ์ไม้ ริมคลอง ตำบลบางนางลี่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต, กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

สาวิณี รอดสิน. (2554). ศึกษาเรื่อง ชุมชนเข้มแข็ง : กรณีศึกษาชุมชนบ้านปางจำปี ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ของบัณฑิตวิทยาลัย, นครปฐม : มหาวิทยาลัยศิลปากร.