การจัดการความขัดแย้งและสร้างความปรองดองตามแนวทางพระพุทธศาสนา: กรณีศึกษาโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 จังหวัดเชียงราย

Main Article Content

ณัฐพงศ์ รักงาม
ทศพล พงษ์ต๊ะ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาแนวคิดการจัดการความขัดแย้งตามแนวทางพระพุทธศาสนา 2) เพื่อศึกษานโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการและแผนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองตามแนวทางพุทธศาสนา ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 3) เพื่อศึกษากระบวนการจัดการความขัดแย้งและสร้างความปรองดองตามแนวทางพระพุทธศาสนาภายใต้โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 จังหวัดเชียงราย โดยเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)   ได้กำหนดแนวทางการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่  1) การวิจัยเอกสาร (Documentary Research) ซึ่งเป็นการค้นคว้า เก็บข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ ตำรา บทความ และงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษา และ 2) การวิจัยภาคสนาม (Field Research) โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์จากกลุ่มตัวอย่างที่กำหนดไว้ ผลการศึกษาพบว่า


                แนวคิดการจัดการความขัดแย้งตามแนวทางพระพุทธศาสนาสามารถแบ่งออกเป็น 2 แนวทางด้วยกัน แนวทางแรก คือหลักธรรมในการสร้างความปรองดองและสามัคคีได้แก่ สังคหวัตถุ 4, พรหมวิหาร 4, สารณียธรรม 6 เป็นต้น แนวทางที่สอง คือหลักธรรมที่นำมาประยุกต์ปฏิบัติเพื่อลดความขัดแย้งและสร้างความปรองดองประกอบไปด้วย 1) อคติ 4, ฆราวาสธรรม, สัปปุริสธรรม รวมไปถึงการรักษาศีล 5 ซึ่งหมายถึงข้อปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อควบคุมความประพฤติทั้งกาย วาจาและใจให้เป็นปกติและนำมาซึ่งความสงบสุขของสังคม


                นโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการและแผนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองตามแนวทางพุทธศาสนา เกิดขึ้นจากมาตรการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคม ดังนั้นจึงมีลักษณะของการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายแบบ top-down คือคำสั่งถูกกำหนดจากหน่วยงานของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว โดยกำหนดให้กรมการศาสนาเป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อน จากยุทธศาสตร์ 4 ประการคือ 1) ส่งเสริม สนับสนุน บทบาทของภาคคณะสงฆ์ องค์การทางศาสนาในการนำมิติศาสนามาแก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติ 2) พัฒนากลไกกระบวนการขับเคลื่อนนำมิติทางศาสนาสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในสังคมไทย 3) การสร้างค่านิยมและปลุกจิตสำนึกให้คนไทย ปรองดองสมานฉัน และ 4) พัฒนาระบบการบริหารจัดการขับเคลื่อนงาน เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้นปัจจัยประการสำคัญต่อการจัดการความขัดแย้งคือ ความร่วมมือหรือการมีส่วนร่วมของบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่ต้องขับเคลื่อนและเป็นผู้กำหนดแนวทางร่วมกัน


                กระบวนการจัดการความขัดแย้งและสร้างความปรองดองตามแนวทางพระพุทธศาสนาภายใต้โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 จังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ แต่อย่างไรก็พบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการหลากหลายประการ เช่นปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจของผู้ดำเนินโครงการและประชาชน ปัญหาการไม่ได้รับสนับสนุนทางด้านงบประมาณ ปัญหาเกณฑ์การวัดผลประเมินผลซึ่งไม่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ กับการลดปัญหาความขัดแย้งหรือส่งเสริมการรักษาศีล 5 ของประชาชนในสังคม เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวส่งผลสำคัญต่อการดำเนินโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการฯในเดือนกันยายน พ.ศ. 2560


                ข้อเสนอแนะในการศึกษา ในการสร้างความปรองดองและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ประเด็นสำคัญคือการสร้างความเข้าใจของคู่ขัดแย้งผ่านการพูดคุย ทั้งในระดับกลุ่มแกนนำและกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเพื่อแสดงทัศนะและสร้างความเข้าใจ, การจัดทำยุทธศาสตร์ มาตรการและแผนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองตามแนวทางพุทธศาสนา ควรให้หน่วยงานในระดับล่างและประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการและควรปรับปรุงกระบวนการดำเนินโครงการฯ เช่น ลดเกณฑ์ร้อยละของจำนวนผู้สมัคร สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ และกำหนดเกณฑ์ในเชิงคุณภาพ ให้มีกิจกรรมที่สามารถปฏิบัติได้จริงและสามารถวัดผลประเมินผลได้อย่างเป็นรูปธรรม

Article Details

บท
บทความ

References

ถนอมจิตร เอี่ยมไพโรจน์. (2556). การนำแนวคิดสันติวิธีมาใช้ในประเทศไทย. วิทยานิพนธ์หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิชาการเมืองการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา. (2554). แนวทางพุทธศาสนากับการสร้างสังคมปรองดองและความมั่นคงแห่งชาติ ภายใต้บริบทด้านการศึกษาและอัตลักษณ์ท้องถิ่นเงื่อนไขของการ. สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะ สังคมศาสตร์และ ศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่.

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. (2559). ผ่าทางตันวิกฤติประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2559, จาก
http://www.thairath.co.th/content/73086

พระมหาวรานนท์ ฐิตานนฺโท. (2545). ความสัมพันธ์ระหว่างศีล 5 และสันติภาพในสังคม : การศึกษาเชิงวิเคราะห์. กรุงเทพฯ : พิมพ์ลักษณ์.

พระไพศาล วิสาโล. (2550). สร้างสันติด้วยมือเรา. ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี: นครปฐม.

พิชญา สุกใส. (2555). การจัดการความขัดแย้งทางการเมืองไทย ระหว่าง พ.ศ. 2547-2553. เอกสารประกอบการประชุมเสนอผลงานวิจัย มหาวิทยาลัยพายัพ.

รายงานการวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ. (2555). เอกสารรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร. สถาบันพระปกเกล้า.

วันชัย วัฒนศัพท์. (2547). หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า.

สถาบันพระปกเกล้า. (2555). การสร้างความปรองดองแห่งชาติ. สถาบันพระปกเกล้า: กรุงเทพฯ.

สืบวงษ์ สุขะมงคล. (2557). การบริหารจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2544 – 2555. วารสารเกษมบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2557.

เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์. (2534). ความขัดแย้ง การบริหารเพื่อความสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ตะเกียง.

อรุณ รักธรรม. (2523). การพัฒนาองค์การเพื่อการเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.