แนวทางการสร้างกระบวนการพันธกิจสัมพันธ์กับชุมชนเพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครสู่มหานครคาร์บอนต่ำ

Main Article Content

Unruan Leknoi

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ใช้เทคนิคการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการให้คุณค่าต่อกระบวนการพันธกิจสัมพันธ์กับชุมชน (Community Engagement) ในการขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครสู่การเป็นมหานครคาร์บอนต่ำ และเสนอแนะแนวทางการสร้างกระบวนการพันธกิจสัมพันธ์ในการขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครสู่การเป็นมหานครคาร์บอนต่ำ เครื่องมือรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามที่พัฒนาขึ้นและปรับปรุงจากการวิจัยการสำรวจทัศนะของชาวออสเตรเลียต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ได้ทำมาต่อเนื่องทุกปีในระหว่างปี 2010-2014 สำหรับประชากรและกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยนี้ ได้แก่ ชาวกรุงเทพมหานคร โดยมีขนาดตัวอย่าง 2,000 คน และเป็นไปตามสัดส่วนของประชากรทางด้านเพศและอายุในภาพรวมทั้งหมด การสุ่มตัวอย่างใช้การกำหนดโควต้า (Quota Sampling) การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ การวิเคราะห์ถดถอยพหุแบบขั้นตอน (Stepwise Multiple Regression Analysis)

ผลการศึกษา พบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการให้คุณค่าต่อกระบวนการพันธกิจสัมพันธ์ในการขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครสู่การเป็นมหานครคาร์บอนต่ำ มี 9 ตัว ได้แก่ ความแน่ใจต่อการเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประสบการณ์จากภัยคุกคามที่เคยได้รับ การให้นัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความรู้สึกทางลบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความไว้เนื้อเชื่อใจกันในชุมชน ความผูกพันกันในชุมชน การรวมกันเป็นหนึ่งในชุมชน และการมีส่วนร่วมในชุมชน โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุด ได้แก่ การให้นัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะต่อแนวทางการสร้างกระบวนการพันธกิจสังคมเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก เน้นเร่งยกระดับให้ประชาชน ให้นัยความสำคัญและสร้างความแน่ใจต่อการเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมที่มากขึ้น เพื่อผูกพันให้เกิดการตอบสนองที่มากขึ้น และสนับสนุนการรวมเป็นหนึ่ง ความผูกพันและความไว้เนื้อเชื่อใจกันให้เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งจะเป็นพลังบวกที่สำคัญต่อไปต่อการขับเคลื่อนสู่การเป็นมหานครคาร์บอนต่ำ ในระยะถัดไป เน้นพัฒนากลไกสนับสนุนให้เกิดกระบวนการพันธกิจสัมพันธ์ในระดับชุมชน ทั้งในทางโครงสร้างเชิงสถาบันและสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็น 

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)