ความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการลงโทษ ทางร่างกายกับแนวโน้มการใช้การลงโทษทางร่างกาย

Main Article Content

หัตถพันธ์ วงชารี
เรวดี วัฒฑกโกศล
พรรณระพี สุทธิวรรณ
สักกพัฒน์ งามเอก

บทคัดย่อ

การลงโทษทางร่างกายเป็นวิธีการอบรมสั่งสอนที่ส่งผลกระทบทางลบต่อเด็กเป็นอย่างมาก แม้ว่าผลกระทบทางลบของวิธีการนี้จะถูกนำเสนอผ่านงานวิจัยหลายครั้ง ก็ยังพบว่ามีพ่อแม่จำนวนมากใช้การลงโทษทางร่างกายในการอบรมสั่งสอนลูก หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้วิธีการนี้ยังคงอยู่และถูกใช้คือการมีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการลงโทษทางร่างกาย งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา
ความสัมพันธ์และความสามารถในการทำนายของความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการลงโทษทางร่างกายต่อแนวโน้มการใช้การลงโทษทางร่างกาย กลุ่มตัวอย่างคือนิสิต-นักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 350 คน อายุระหว่าง 18-22 ปี เครื่องมือในการวิจัยประกอบด้วย 2 มาตรวัดคือมาตรวัดแนวโน้มการใช้การลงโทษทางร่างกาย และมาตรวัดความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการลงโทษทางร่างกาย โดยมาตรวัดความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการลงโทษทางร่างกายแบ่งออกเป็น 2 องค์ประกอบคือ องค์ประกอบที่ 1 ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับความสะดวกในการใช้การลงโทษทางร่างกาย และองค์ประกอบที่ 2 ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้การลงโทษทางร่างกาย ผลการวิเคราะห์พบว่าองค์ประกอบความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้การลงโทษทางร่างกายมีความสัมพันธ์ทางบวกกับแนวโน้มการใช้การลงโทษทางร่างกาย (r=0.17, p<0.01) ส่วนองค์ประกอบความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับความสะดวกในการใช้การลงโทษทางร่างกายไม่มีความสัมพันธ์กับแนวโน้มการใช้การลงโทษทางร่างกาย องค์ประกอบความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับความสะดวกในการใช้การลงโทษทางร่างกายและองค์ประกอบความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้การลงโทษทางร่างกายสามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของคะแนนแนวโน้มการใช้การลงโทษทางร่างกายได้ร้อยละ 3 (R2=0.03, p<0.01) โดยองค์ประกอบความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้การลงโทษทางร่างกายสามารถทำนายการใช้การลงโทษทางร่างกายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β=0.19, p<0.01) ส่วนองค์ประกอบความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับความสะดวกในการใช้การลงโทษทางร่างกายไม่สามารถทำนายแนวโน้มการใช้การลงโทษทางร่างกายได้

Article Details

บท
บทความวิจัย