การพัฒนารูปแบบการจัดเลี้ยงวิถีไทยโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมสี่เผ่า จังหวัดศรีสะเกษ

Main Article Content

ปาริฉัตร พงษ์คละ

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดเลี้ยงวิถีไทยโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมสี่เผ่า จังหวัดศรีสะเกษ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตลักษณ์ความเป็นวิถีไทยผ่านบริบททุนทางวัฒนธรรมสี่เผ่าของจังหวัดศรีสะเกษ ศึกษาความต้องการการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์การจัดงานเลี้ยงวิถีไทยภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมสี่เผ่า และเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดเลี้ยงวิถีไทยในจังหวัดศรีสะเกษโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมสี่เผ่า เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างกับผู้นำชุมชน ชาวบ้าน หัวหน้ากลุ่มแม่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้นำสถานศึกษา ทดลองจัดงานเลี้ยงวิถีไทยกับกลุ่มตัวอย่างสี่เผ่า คือ เขมร กูย ลาว เยอ และประชุมระดมความคิดเห็นกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้แก่ วัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชนและวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานเลี้ยง ได้แก่ ผู้แทนสถานประกอบการธุรกิจโรงแรม ผู้แทนผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และนักโภชนาการ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย การจัดระเบียบเนื้อหาข้อมูล การแสดงข้อมูลโดยใช้ตารางแสดงข้อมูล และรายงานผลการวิจัยในเชิงพรรณนา


            ผลการวิจัยด้านอัตลักษณ์ความเป็นวิถีไทยผ่านบริบททุนทางวัฒนธรรมสี่เผ่าของจังหวัดศรีสะเกษ พบว่า บริบททุนทางวัฒนธรรมสี่เผ่า (เขมร กูย ลาว เยอ) ของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้นทุนของความเป็นชุมชนที่ล้ำค่าที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ กล่าวคือ ชุมชนสี่เผ่าไทย มีต้นทุนวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ต่างกันเพียงภาษาประจำเผ่าที่ใช้ในการสื่อสาร ทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของเผ่าเขมรนอกจากภาษาและการแต่งกายประจำเผ่าแล้ว ยังมีอาหารประจำเผ่าที่หารับประทานทานได้ยาก เช่น ตำบ๊ก-กระด๊าด ตำเมียงคเนิน ซำลอเมือนดะเจ๊ก ละเวียกะดาม เวือระพรอม งานเทศกาลประจำปีของเผ่าเขมร คือ งานเทศกาลดอกฝ้ายบาน การแสดงประจำเผ่าที่ยังหลงเหลือให้เห็น คือ เจรียง ทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของเผ่ากูยนอกจากภาษาและการแต่งกายประจำเผ่าแล้ว ยังมีอาหารประจำเผ่าที่หารับประทานได้ยาก เช่น ตำผลไม้พื้นบ้าน ละแวกะดาม ละแวเทา ฮนอมโปม ฮนอมไปรกระซัง งานบุญประจำปีของเผ่ากูย คือ งานหวัวบุญเบิกฟ้า การแสดงประจำเผ่า คือ แกลมอกูย ทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของเผ่าลาวนอกจากภาษาลาวและการแต่งกายประจำเผ่าแล้ว ยังมีอาหารประจำเผ่าที่หารับประทานได้ยาก เช่น ตำลาว ซุบหน่อไม้ ลาบหมู แกงหน่อไม้ใส่ใบย่านาง ต้มปลาใส่ผักแขยง ขนมเทียน งานบุญประจำปีของเผ่าลาว คือ งานโฮมบุญแซมซายพี่น้องบองประโอน การแสดงประจำเผ่าที่นิยมเล่นในงานจัดเลี้ยง คือ หมอลำซิ่ง ทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของเผ่าเยอนอกจากภาษาและการแต่งกายประจำเผ่าแล้ว ยังมีอาหารประจำเผ่าที่หารับประทานได้ยาก เช่น ส้มตำเยอ น้ำพริกปลาย่างและผักพื้นบ้าน แบดยุ-เปรี๊ยด ละแวกะตาม หมาน้อย งานประเพณีประจำปี คือ งานแข่งเรือยาว งานสงกรานต์ การแสดงประจำเผ่า คือ การแสดงวงสะไนใจเยอ


ผลการวิจัยด้านความต้องการการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างสรรค์งานจัดเลี้ยงวิถีไทยพบว่า ชุมชนมีความต้องการให้มีการอบรมรูปแบบการจัดเลี้ยงสากลที่ถูกต้องทั้ง 6 แบบ คือ แบบแบงเคว็ท แบบบุฟเฟ่ต์ แบบค็อกเทล แบบโต๊ะจีน แบบปิกนิก และแบบน้ำชาและอาหารว่าง เพราะมีความเห็นว่าเป็นการจัดเลี้ยงที่แปลกใหม่และแตกต่างจากแบบเดิมกับที่ชาวบ้านปฏิบัติกันมา เพื่อที่ชุมชนจะได้นำไปใช้ในการรับงานจัดเลี้ยงเอง จะได้ประหยัดต้นทุนในการจ้างบริษัทรับจัดเลี้ยงภายนอก เนื่องจากอุปสรรคของการจัดเลี้ยงในงานเทศกาลหรืองานบุญประเพณีในแต่ละครั้งนั้น ได้รับงบประมาณน้อย ซึ่งส่งผลต่อการจัดงานและให้บริการแก่แขกที่มาร่วมงานไม่ทั่วถึง รวมถึงปัญหาแรงงานในชุมชนที่ขาดความรู้และขาดทักษะที่เชี่ยวชาญด้านการให้บริการจัดเลี้ยง


ผลการวิจัยด้านการพัฒนารูปแบบการจัดเลี้ยงวิถีไทยภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมสี่เผ่า จังหวัดศรีสะเกษพบว่า การพัฒนารูปแบบการจัดเลี้ยงวิถีไทยโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมสี่เผ่าจังหวัดศรีสะเกษ เป็นการประยุกต์เอาทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของสี่เผ่าในจังหวัดศรีสะเกษ คือ ภาษา การแต่งกายประจำเผ่า วิถีชีวิตท้องถิ่น เช่น วัฒนธรรมอาหาร อาชีพ ที่อยู่อาศัย ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ความเชื่อหรือความศรัทธาของคนในชุมชน มาบูรณาการกับงานเทศกาลหรืองานบุญประเพณีประจำปีของชุมชน เพื่อสร้างสรรค์เป็นการจัดงานเลี้ยงที่แปลกใหม่ ตั้งแต่การตกแต่งจานอาหาร การตกแต่งสถานที่ กิจกรรมภายในงาน ที่สามารถมอบประสบการณ์อันแปลกใหม่แก่ผู้เยี่ยมเยือนหรือนักท่องเที่ยว และเพื่อสนองความต้องการตลาดการท่องเที่ยวสมัยนิยม คือ เผ่าเขมร มีรายการอาหารประจำเผ่าที่หลากหลาย จึงเหมาะที่จะพัฒนาให้เป็นการจัดเลี้ยงวิถีไทยแบบบุฟเฟ่ต์ ในงานเทศกาลดอกฝ้ายบาน เผ่ากูย มีรายการอาหารประจำเผ่าที่ไม่ค่อยหลากหลาย จึงเหมาะที่จะพัฒนาให้เป็นการจัดเลี้ยงวิถีไทยแบบค็อกเทล ในงานหวัวบุญเบิกฟ้า และการจัดเลี้ยงวิถีไทยแบบน้ำชาและอาหารว่าง โดยให้บริการอาหารและเครื่องดื่มแบบแบงเคว็ท ในงานรับรองแขกผู้ใหญ่คนสำคัญ เผ่าลาว มีรายการอาหารประจำเผ่าที่หลากหลายและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวอยู่แล้ว จึงเหมาะที่จะพัฒนาให้เป็นการจัดเลี้ยงวิถีไทยแบบโต๊ะจีน เผ่าเยอ มีรายการอาหารประจำเผ่าที่หลากหลาย จึงเหมาะที่จะพัฒนาให้เป็นการบริการจัดเลี้ยงวิถีไทยแบบแบงเคว็ท และการจัดเลี้ยงวิถีไทยแบบปิกนิกในงานประเพณีปีใหม่ไทย ซึ่งรายการอาหารมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการกำหนดรูปแบบการให้บริการจัดเลี้ยงวิถีไทย ทั้ง 6 แบบ ส่วนภาษา การแต่งกาย ที่อยู่อาศัย ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ความเชื่อหรือความศรัทธาของคนในชุมชน เป็นองค์ประกอบหลักในการพัฒนารูปแบบการจัดเลี้ยงวิถีไทยภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมสี่เผ่า จังหวัดศรีสะเกษ ให้มีความโดดเด่น สามารถมอบประสบการณ์ที่ประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนหรือนักนักท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน

Article Details

บท
Research Articles (บทความวิจัย)

References

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2560). อีสานแซ่บนัว จัดหนัก พร้อมรับนักท่องเที่ยว. กรุงเทพฯ: การท่องเที่ยวแห่ง
ประเทศไทย.
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2559). สานพลังประชารัฐ ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย “โครงการ
Amazing Thai Taste”. กรุงเทพฯ: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2558). ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2558-2560. กรุงเทพฯ: กระทรวงการ
ท่องเที่ยวและกีฬา.
จตุพร จันทนะสุต, ผศ. (2552). การบริการอาหารและเครื่องดื่ม. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต.
วัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ. (2554). เส้นทางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ. สภาวัฒนธรรมจังหวัด
ศรีสะเกษ.
วัฏจักร จันทะภักดิ์. (2557). จังหวัดศรีสะเกษ. ศรีสะเกษ: มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ.
โสภณ เกศกนกฤทธา. (2560). การบริการอาหารในการจัดเลี้ยง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อัมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ. 2559). หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม.
ศรีสะเกษ: มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ.