การพัฒนาครูในศตวรรษที่ 21 โดยใช้เทคนิคการโค้ช (Coaching)

Main Article Content

สมาพร มณีอ่อน

บทคัดย่อ

การโค้ชเป็นวิธีการพัฒนางานหรือการพัฒนาวิชาชีพที่ผู้ทำหน้าที่โค้ชและผู้รับการโค้ชมีความรู้และประสบการณ์ระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างเพื่อน ผู้ร่วมงาน ที่มีความเชี่ยวชาญ หรือผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญที่เต็มใจทำหน้าที่โค้ชในการพัฒนาการเรียนการสอน มีการสังเกตการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน เป็นไปตามความต้องการที่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันกำหนดขึ้น อาจผลัดเปลี่ยนกันสังเกตการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้หรือพัฒนาการปฏิบัติงานของตนเอง รวมทั้งการพัฒนาผู้เรียนของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามเป้าหมาย การโค้ชสามารถถ่ายโอนทักษะใหม่ให้กับครูหรือผู้บริหาร ที่มีความคงทนได้มากกว่าวิธีอื่น ผู้รับการโค้ชสามารถจดจำความรู้ได้ถึงร้อยละ 90 ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแต่ระดับความรู้ความเข้าใจก็ยังคงที่ในระดับเดิม การโค้ชมุ่งเน้นการใช้กลยุทธ์ต่างๆ ช่วยเหลือให้ผู้รับการโค้ชได้ใช้กระบวนการคิด และกระบวนการทางปัญญาของตนเอง ในการเรียนรู้การปฏิบัติงาน และตัดสินใจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้ดีขึ้น ผู้รับการโค้ช จะต้องเป็นผู้ที่ปรับปรุง และพัฒนาการจัดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ทำหน้าที่โค้ชและผู้รับการโค้ชเป็นสื่อกลางให้เกิดกระบวนการคิดการพัฒนา และการสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นภายในตนเอง ขั้นตอนของการโค้ชส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วย  1) ขั้นการวางแผน 2) ขั้นการสังเกต 3) ขั้นการปฏิบัติ 4) ขั้นการวิเคราะห์ 5) ขั้นการประเมิน และ 6) ขั้นการสะท้อนผล


                     การโค้ช สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาสมรรถนะของครูร่วมกับวิธีอื่น ๆ อย่างได้ผล มุ่งเน้นการพัฒนาตนเอง และพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง โดยนักเรียนจะบรรลุผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เมื่อได้รับการสอนจากครูที่เข้าร่วมกิจกรรมการโค้ช  การโค้ชมีหลายประเภท ในแต่ละประเภทอยู่บนพื้นฐานของหลักจิตวิทยา ทฤษฎี ผลการวิจัย และการทดลองปฏิบัติ วิธีโค้ชที่มีความเหมาะสมกับการพัฒนาครูในศตวรรษที่ 21 มีด้วยกัน 6 ประเภท ได้แก่ การโค้ชแบบเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Coaching) การโค้ชแบบร่วมมือ (Collaborative Coaching) การโค้ชโดยผู้เชี่ยวชาญ (Expert Coaching) การโค้ชแบบพี่เลี้ยง (Mentor Coaching) การโค้ชเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอน (Instructional Coaching) และการโค้ชทางปัญญา (Cognitive Coaching)

Article Details

บท
บทความวิชาการ (Articles)