ผลการจัดการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์โดยใช้เกมจำลองสถานการณ์ ที่มีต่อการรู้เรื่องการเงินของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย (Effects of Economics Instruction by using Simulation Games on Financial Literacy of Upper Secondary School Students)

ผู้แต่ง

  • ปรินทร์ ทองเผือก (Parin Thongphuak) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ชาริณี ตรีวรัญญู (Charinee Triwaranyu) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำสำคัญ:

การจัดการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์, เกมจำลองสถานการณ์, การรู้เรื่องการเงิน

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการจัดการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์โดยใช้เกมจำลองสถานการณ์ที่มีต่อการรู้เรื่องการเงินของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 กรุงเทพมหานคร จำนวน 33 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบวัดการรู้เรื่องการเงิน แบบบันทึกประเด็นการอภิปรายหลังเล่นเกม และบันทึกการเรียนรู้ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ แผนการจัดการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์โดยใช้เกมจำลองสถานการณ์ การทดลองใช้เวลา 8 สัปดาห์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการทดสอบค่าที (t – test) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1) นักเรียนมีค่าเฉลี่ยของคะแนนการรู้เรื่องการเงินหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีค่าเฉลี่ยของคะแนนการรู้เรื่องการเงินในทุกองค์ประกอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

2) นักเรียนมีผลการเปลี่ยนแปลงของการรู้เรื่องการเงินในแต่ละองค์ประกอบเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ 1) ความรู้และความสามารถทางการเงิน 2) แนวโน้มของพฤติกรรมทางการเงิน และ 3) เจตคติทางการเงิน ตามลำดับ โดยมีผลการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในด้านความสามารถในการประเมินประเด็นทางการเงินการออมหรือการลงทุนที่เหมาะสม และความพึงพอใจในการใช้จ่ายและเก็บออมในระยะยาว

 

เผยแพร่แล้ว

2019-07-08

ฉบับ

บท

บทความวิจัย