วารสารไทยคดีศึกษา ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 ประกอบด้วยบทความที่มีสารัตถะหลาก หลายมิติ โดยเฉพาะทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง และพุทธศาสนา ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประเด็นที่แตกต่างกันออกไป ในขณะเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าบทความเหล่านี้ต่างก็มีมุมมองหรือกระบวนทัศน์ที่คล้ายคลึงกันอย่างน่าสนใจ นั่นคือเป็นการศึกษาในเชิง “บูรณาการ” ที่เกิดจากการเชื่อมโยงความรู้จากสาขาวิชา  ต่าง ๆ จนทำให้เกิดเครือข่ายองค์ความรู้ใหม่ขนาดใหญ่ ที่มีความกว้างขวาง มีความถูกต้องและชัดเจนมากขึ้น และสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปสร้างสรรค์สังคม แก้ไขปัญหาสังคม หรืออธิบายปรากฏการณ์ในสังคมได้อย่างเข้าใจ

            เริ่มต้นวารสารด้วยบทความพิเศษเรื่อง “อยุธยามาจากไหน: มุมมองผ่านหลักฐานทางศิลปกรรม” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ให้มุมมองใหม่ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และผู้คนสมัยอยุธยาด้วยองค์ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ เนื่องจากในสมัยอยุธยาเป็นราชธานีมีการรวบรวมผู้คนมาจากหลายพื้นที่ซึ่งมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันจึงเป็นช่วงเวลาที่มีความซับซ้อนทางด้านวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาจากหลักฐานเอกสารนั้นยังคงมีช่องว่างทางความรู้ที่ยังไม่ได้รับคำตอบอยู่อีกมาก อย่างไรก็ดี ในสมัยอยุธยาได้มีการสร้างงานศิลปกรรมขึ้นเป็นจำนวนมากและยังคงเหลือเป็นหลักฐานถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมประเภทเจดีย์และงานประติมากรรมประเภทพระพุทธรูป ซึ่งเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะของหลักฐานเหล่านี้อย่างเป็นระบบ จะทำให้ทราบถึงรูปแบบศิลปะ ความหมายทางประติมานวิทยา อายุการสร้าง และสายวิวัฒนาการของหลักฐานเหล่านั้นที่เชื่อมโยงอยู่กับกลุ่มช่างหรือกลุ่มคน    ผู้เป็นเจ้าของงานศิลปกรรมที่แท้จริง จึงทำให้ทราบถึงเอกลักษณ์เฉพาะของงานศิลปกรรมของกลุ่มคนต่าง ๆ ได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเอกลักษณ์รูปแบบศิลปะสามารถบ่งชี้ถึงกลุ่มคนได้ บทความนี้จึงเป็นการศึกษาเชิงบูรณาการที่เชื่อมโยงความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเข้ากับความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งนับเป็นการนำความรู้ใหม่ที่อยู่นอกเหนือหลักฐานเอกสารที่การศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ให้ความสำคัญ ทำให้เกิดเป็นความรู้ใหม่ที่มีความกว้างขวางมากขึ้น เป็นการเปิดประเด็นการศึกษาใหม่ทางด้านประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา อาทิ ประเด็นเรื่องเจดีย์ทรงปรางค์สัญลักษณ์ของกลุ่มชนจากเมืองลพบุรี และข้อสันนิษฐานเรื่องพระเจ้าอู่ทองมาจากเมืองลพบุรี, เจดีย์ทรงระฆังที่มีชุดรองรับองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยมสัญลักษณ์ของกลุ่มคนจากเมืองสุพรรณบุรีและสรรคบุรี, เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยและชาวสุโขทัยในอยุธยา, เจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา สัญลักษณ์ของชาวล้านนาในอยุธยา เป็นต้น อนึ่ง ในการนี้กองบรรณาธิการวารสารไทยคดีศึกษาขอขอบคุณศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เป็นอย่างสูง ที่กรุณาเขียนบทความพิเศษนี้ให้กับวารสารไทยคดีศึกษา

            บทความเรื่อง “พลวัตสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย: ข้อสังเกตว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495 – 2535” โดย อาสา คำภา บทความนี้มุ่งตั้งข้อสังเกตต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในเชิงเครือข่ายอย่างเฉพาะเจาะจงลงไปมากกว่าการศึกษาที่ผ่านมาในอดีต โดยการวิเคราะห์เพื่อสร้างคำอธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง สถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่ายกับเครือข่ายชนชั้นนำไทย ซึ่งเป็นการศึกษาในลักษณะเชื่อมโยงความรู้จากประเด็นต่าง ๆ ที่เคยกระจัดกระจายเป็นส่วน ๆ ทำให้เกิดเครือข่ายความองค์ความรู้ใหม่ขนาดใหญ่ที่สามารถนำไปอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองการปกครองในสังคมในสมัยรัชกาลที่ 9 ให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่ายถือเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างเครือข่ายชนชั้นนำไทย การก่อรูปและพลวัตของสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่ายเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในแต่ละช่วงเวลา ในขณะที่กลุ่มก้อนตัวแสดงในสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่ายล้วนเป็นสมาชิกของกลุ่มชนชั้นนำไทยที่มีความสัมพันธ์กันในแบบอิสระเชิงสัมพัทธ์ โดยในเครือข่ายชนชั้นนำไทยนี้จะมีฉันทามติชนชั้นนำไทยเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งมีผลต่อการกำหนดช่วงเวลาแห่งพระราชอำนาจนำด้วย บทความนี้จึงมีความโดดเด่นในฐานะเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ให้ภาพเครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นสมัยที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างน่าสนใจ

            บทความเรื่อง “จารึกปราสาทพิมานอากาศ ของพระนางศรีอินทรเทวี: สารัตถะและความสำคัญในการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7” โดย นิพัทธ์  แย้มเดช และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา บทความนี้มุ่งศึกษาจารึกในประเด็นเรื่องสารัตถะและการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยพบว่าประเด็นเรื่องสารัตถะ จารึกได้กล่าวถึงด้านประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะพระราชประวัติของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไว้หลายเรื่อง รวมถึงวีรกรรมของพระองค์ในการทำสงครามกับกองทัพจามปา และข้อมูลพระประวัติของพระนางศรีชัยราชเทวีและพระนางศรีอินทรเทวี ในด้านศาสนาจารึกได้กล่าวถึงความผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์ และมีการเชิดชูศาสนาพุทธอยู่เหนือศาสนาอื่น ๆ ในด้านสังคมและวัฒนธรรมจารึกได้กล่าวถึงวิถีปฏิบัติของสตรีในราชสำนักโดยเฉพาะการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนา และสภาพปัญหาทางสังคมในช่วงเวลานั้น สำหรับประเด็นเรื่องการสดุดีพระเกียรติพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้นจารึกได้สร้างภาพลักษณ์ของพระองค์ให้เป็นกษัตริย์ในอุดมคติที่มีความยิ่งใหญ่ เป็นยอดนักรบ และมีความงดงามเป็นเลิศ พระองค์อยู่ในฐานะพุทธราชาที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันพระองค์ก็อยู่ในฐานะเทวราชาที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับพระอินทร์ บทความนี้จึงมีความโดดเด่นในด้านการตีความจารึกซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญ โดยพยายามวิเคราะห์จารึกในเชิงบูรณาการ นอกเหนือไปจากการศึกษาจารึกโดยทั่วไป  ที่มักเป็นการถอดความเท่านั้น จึงสามารถแสดงให้เห็นถึงองค์ความรู้ใหม่ทั้งในด้านสารัตถะและข้อสังเกตต่าง ๆ ต่อบริบทที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสารัตถะเหล่านั้น โดยอาศัยการศึกษาเชื่อมโยงกับจารึกหลักอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดเครือข่ายองค์ความรู้ขนาดใหญ่ที่สามารถให้ภาพเรื่องราวของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 รวมถึงวัฒนธรรมและสังคมของเขมรในช่วงเวลานั้นได้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งขึ้น

            บทความเรื่อง “ลวดบัวฐานในสถาปัตยกรรมทวารวดี: รูปแบบ ที่มา และความสัมพันธ์กับสถาปัตยกรรมอินเดีย” โดย พงษ์ศักดิ์ นิลวร บทความนี้ได้มุ่งศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะของสถาปัตยกรรมในสมัยทวารวดีในประเทศไทย เชื่อมโยงกับศาสนสถานในศิลปะอินเดีย ทั้งในกลุ่มอินเดียภาคเหนือและอินเดียภาคใต้ เพื่อค้นหาที่มาหรือแรงบันดาลใจในการทำฐานเจดีย์สมัยทวารวดี การศึกษาเชื่อมโยงระหว่างดินแดนที่ห่างไกลกันเช่นนี้ทำให้เกิดการขยายพรมแดนความรู้ให้มีความก้าวหน้ามากขึ้นอย่างรวดเร็ว บทความนี้จึงมีความน่าสนใจเนื่องจากทำให้ทราบถึงประเด็นใหม่ ๆ ทางวิชาการ ที่พบว่าสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดีนอกจากกจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะอินเดียทั้งอินเดียภาคเหนือและอินเดียภาคใต้แล้ว ยังมีการสร้างสรรค์รูปแบบขึ้นใหม่ตามรสนิยมของตน และเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองอย่างชัดเจน

            เช่นเดียวกับบทความเรื่อง “มหาโพธิวิหารจำลองในไทยสมัยพุทธศตวรรษที่ 26: การส่งผ่านรูปแบบทางศิลปกรรมจากอินเดีย และการเคลื่อนคลายของความหมายเชิงสัญลักษณ” โดย สุระ พิริยะสงวนพงศ์ ที่มุ่งใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะมาวิเคราะห์รูปแบบศิลปะ เหตุผลในการสร้าง และคติหรือความหมายเชิงสัญลักษณ์ ของมหาโพธิวิหารจำลองในไทยในสมัยพุทธศตวรรษที่ 26 โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบกับมหาโพธิวิหารองค์ต้นแบบที่เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย และมหาโพธิวิหารจำลองที่สร้างขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 26 ได้แก่ ล้านนา พุกาม และหงสาวดี โดยพบว่ามหาโพธิวิหารที่จำลองในช่วง      พุทธศตวรรษที่ 26 ไม่ได้ทำตามระบบแผนผังสัตตมหาสถานอย่างที่ต้นแบบหรือช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 26 แล้ว และยังละเลยการปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับนามมหาโพธิวิหารด้วย แต่กลับพบว่ามีหลายแห่งที่จำลองขึ้นโดยเชื่อมโยงปูชนียสถานในกลุ่มสังเวชนียสถานทั้ง 4 ซึ่งไม่เคยปรากฏในช่วงก่อนหน้า และนิยมสร้างขึ้นเพื่อใช้งานในหลายลักษณะ การจำลองมหาโพธิวิหารเหล่านี้สามารถอ้างอิงรูปแบบโดยตรงจากอินเดีย อันแสดงให้เห็นถึงการหวนสู่อินเดียในฐานะเป็นแหล่งอ้างอิงความศักดิ์สิทธิ์ในโลกพุทธศาสนา ซึ่งเปลี่ยนไปจากในอดีตที่เคยอ้างอิงลังกามาก่อน บทความนี้มีความน่าสนใจด้วยเป็นการศึกษาเชื่อมโยงหลักฐานที่อยู่ห่างไกลกัน แต่มีความสัมพันธ์ต่อกันในฐานะเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาแหล่งสำคัญที่นิยมสร้างจำลองต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน จึงเป็นการขยายพรมแดนความรู้ให้กว้างขวางขึ้น ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นคำอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลต่อปรากฏการณ์ความนิยมสร้างมหาโพธิวิหารในสังคมไทยปัจจุบัน

            บทความเรื่อง “ความย้อนแย้งของการฆ่าตัวตายว่าด้วยทัศนะทางวิชาการเชิงพุทธกับความเชื่อของคนไทยและพุทธทัศนะ” โดย เทียมจิตร์ พ่วงสมจิตร์ บทความนี้เสนอประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับความย้อนแย้งของผลจากการฆ่าตัวตายในทัศนะต่าง ๆ ในสังคมไทยว่าเป็นบาปกรรมหรือไม่เป็นบาปกรรม โดยพบว่าในทัศนะทางวิชาการที่มุ่งพิจารณาความหมายของศีลและธรรมกล่าวว่าการฆ่าตัวตายนั้นไม่ผิดศีลข้อปาณาติบาตแต่ผิดธรรม ส่วนในทัศนะของความเชื่อชาวไทยกล่าวว่าการฆ่าตัวตายนั้นเป็นบาปกรรมหนักจะต้องตกนรกและต้องเวียนกลับมาเกิดเพื่อจะฆ่าตัวตายอีกนับร้อยชาติ อย่างไรก็ดี จากการค้นคว้าเพิ่มเติมของผู้เขียนบทความพบว่าในทัศนะของพระพุทธเจ้านั้นมุ่งให้ความสำคัญต่อจิตที่เป็นเหตุมากกว่าวิธีการและผลคือความตาย ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของการพิจารณาแก้ไขเหตุให้ถูกต้องเพื่อผลที่ถูกต้อง โดยให้ความสำคัญต่อจิตที่สว่างมีความผ่องใสปราศจากมลทินของกิเลสและตัณหา จุดเด่นของบทความนี้อยู่ที่การวิเคราะห์ทัศนะที่แตกต่างกันในเชิงบูรณาการ โดยได้เชื่อมโยงสาระสำคัญของทัศนะที่แตกต่างกันดังกล่าวจึงกลับพบว่าพระพุทธศาสนามีทัศนะต่อเรื่องการฆ่าตัวตายอย่างสอดคล้องกันเป็นระบบโดยไม่มีการย้อนแย้งกัน

            บทความเรื่อง “การจัดการความรู้ชุมชนผ่านศูนย์การเรียนรู้โหนดนาเล เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานในอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา” โดย เจตน์สฤษฎิ์ สังขพันธ์, ชิดชนก เชิงเชาว์ และเกษตรชัย และหีม บทความนี้มุ่งศึกษาการจัดการความรูชุมชนตำบลท่าหิน ผ่านศูนย์การเรียนรู้โหนดนาเล เพื่อสร้างความเข้มแข็งชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐาน โดยพบว่าชุมชนนี้ได้มีการแสวงหาความรู้ภายในจากบุคคลในชุมชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำนา การขึ้นต้นตาลโตนด และการทำประมง มีการแสวงหาความรู้ภายนอกจากการไปศึกษาดูงาน การอบรมและแลกเปลี่ยนความรู้ มีการใช้นวัตกรรมมาช่วยพัฒนาความรู้หรือภูมิปัญญาดั้งเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการจัดเก็บความรู้และการค้นคืนความรู้ และมีการถ่ายทอดความรู้ผ่านการจัดกิจกรรมให้เยาวชนภายในชุมชนและบุคคลภายนอกที่สนใจ ศูนย์การเรียนรู้นี้ได้สร้างความเข้มแข็งทางสังคมเนื่องจากช่วยให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมีความแน่นแฟ้นมากขึ้น ทำให้ชุมชนมีความสามัคคี ชุมชนมีการรื้อฟื้นประเพณีดั้งเดิมให้กลับคืนมา และชุมชนยังได้มีการพัฒนาภูมิปัญญาโดยใช้นวัตกรรมในวิถีการผลิตทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแก่ครอบครัวและชุมชน

            กล่าวได้ว่าบทความทั้งหมดในวารสารไทยคดีศึกษาฉบับนี้ต่างก็มีมุมมองในการศึกษาเชิงบูรณาการ ที่เป็นการเชื่อมโยงความรู้จากสาขาวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน อันทำให้เกิดความรู้ใหม่ที่มีความถูกต้องและชัดเจนมากขึ้น เป็นการขยายพรมแดนความรู้ให้กว้างขวางออกไปจนกลายเป็นเครือข่ายความรู้ขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงถึงกัน ในขณะเดียวกันผลของการศึกษาลักษณะนี้ก็ทำให้ความรู้ใหม่มีความลึกซึ้งแตกฉานมากขึ้นตามไปด้วย

            นอกจากนี้ ในวารสารฉบับนี้ยังมีส่วนอื่น ๆ ที่น่าสนใจคือ บทวิจารณ์หนังสือเรื่อง “อดีตการเมืองไทย ทิศทางการเมืองไทยในอนาคต: มุมมองบนพื้นฐานปัจจัยการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและกระบวนทัศน์ของคนไทย” โดย ธีรยุทธ บุญมี วิจารณ์โดย สุทธิเกียรติ อังกาบูรณะ รวมถึงข่าวกิจกรรมวิชาการและศิลปวัฒนธรรมจำนวนหลายกิจกรรมที่สถาบันไทยคดีศึกษาจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2561 โดยกองบรรณาธิการได้รวบรวมและสรุปสาระสำคัญของกิจกรรมเหล่านี้มาไว้ด้วย

            สุดท้ายนี้ กองบรรณาธิการฯ หวังว่าวารสารไทยคดีศึกษาจะได้เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนวิชาการด้านไทยศึกษา และเป็นวารสารทางวิชาการที่ผู้สนใจให้การสนับสนุนต่อไป

 

Published: 2019-01-04