จริยธรรมในการตีพิมพ์บทความวารสาร

Journal of Humanities and Social Sciences Thonburi University (Publication Ethics)

 

            เพื่อให้การดำเนินงานของวารสารเกิดความสอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์ระดับนานาชาติ และจริยธรรมในการตีพิมพ์บทความตามข้อกำหนดของ  Committee on Publication Ethics (COPE) วารสาร Journal of Humanities and Social Sciences Thonburi University จึงได้กำหนดบทบาทและจริยธรรมวารสารดังต่อไปนี้

  1. บทบาทหน้าที่และจริยธรรมของผู้เขียน
  • ผู้เขียนต้องรับรองผลงานที่ตีพิมพ์เป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อน
  • ผู้เขียนต้องรับรองว่า ไม่ได้บิดเบือน แก้ไข หรือดัดแปลงผลงานที่คลาดเคลื่อนไปจากผลงานที่เกิดขึ้นจริง
  • ผู้เขียนที่มีชื่อปรากฏในบทความ ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการบทความจริง
  • ผู้เขียนมิได้จ้างวานให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานเป็นผู้เขียนผลงานให้
  • ผู้เขียนต้องเขียนบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบของวารสารที่ได้กำหนดไว้
  • ผู้เขียนต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น และมีการอ้างอิงทุกครั้งที่นำผลงานของผู้อื่นมานำเสนอหรือการนำข้อความใดๆ มาใช้ในผลงานตนเอง และต้องทำเอกสารอ้างอิงไว้ท้ายบทความ
  • ในกรณีที่ผลงานของผู้เขียนเป็นการศึกษาวิจัยและทำการทดลองในคนหรือสัตว์ทดลอง ผู้เขียนจะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง และต้องมีการระบุไว้ในบทความด้วย ทั้งนี้ การอนุมัติให้ลงตีพิมพ์ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากกองบรรณาธิการวารสารฯ ถือเป็นที่สิ้นสุด

 

  1. บทบาทหน้าที่และจริยธรรมของบรรณาธิการ
  • บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณา ตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพของบทความ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารให้เป็นไปตามขอบเขต วัตถุประสงค์ และมาตรฐานของวารสาร รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพบทความในกระบวนการประเมินคุณภาพก่อนการตีพิมพ์
  • บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียน ผู้ประเมิน และต้องมีความรับผิดชอบในการรักษาข้อมูลได้เป็นอย่างดี
  • บรรณาธิการต้องปฏิบัติต่อผู้เขียนโดยใช้เหตุผลทางวิชาการ มาพิจารณาบทความทุกครั้งด้วยความเป็นธรรม ปราศจากอคติหรือความลำเอียงต่อบทความ และผู้เขียน ทั้งในด้านเชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัฒนธรรม การเมือง อุดมคติ และสังกัดของผู้เขียน
  • หากตรวจพบว่า บทความมีการคัดลอก ลอกเลียนแบบจากบทความอื่นโดยมิชอบ หรือมีการปลอมแปลงข้อมูล บรรณาธิการสามารถดำเนินการถอนบทความได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียน ซึ่งถือเป็นสิทธิและความรับผิดชอบต่อบทความของบรรณาธิการ
  • บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน หรือผู้ประเมิน และต้องไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรือนำไปเป็นผลงานของตนเอง
  • บรรณาธิการไม่ควรเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารของตน
  1. บทบาทหน้าที่และจริยธรรมของผู้ประเมินบทความ
  • ผู้ประเมินต้องคำนึงถึงคุณภาพบทความ พิจารณาบทความภายใต้หลักการทางวิชาการ โดยปราศจากอคติหรือความลำเอียงต่อบทความ และผู้เขียน ทั้งในด้านเชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัฒนธรรม การเมือง อุดมคติ สังกัดของผู้เขียน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน
  • ผู้ประเมินบทความต้องตระหนักว่าบทความที่รับประเมินตนเองมีความเชียวชาญ และตรงกับศาสตร์ของตนอย่างแท้จริง
  • ผู้ประเมินต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน
  • ผู้ประเมินบทความต้องให้ข้อเสนอแนะหรือคำแนะนำตามหลักวิชาการแก่ผู้เขียน เท่านั้น และต้องรักษาความลับของบทความ ไม่เผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความ ในระยะของการประเมิน หรือจนกว่าบทความนั้นจะได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารอย่างเป็นทางการ
  • หากผู้ประเมินบทความพบว่า ข้อความ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความมีความเหมือน หรือคัดลอกมาจากผลงานอื่น ผู้ประเมินบทความจะต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที
  • ผู้ประเมินบทความต้องรักษาเวลาการประเมินตามกรอบเวลาที่ทางบรรณาธิการกำหนดไว้

ปรับปรุงจาก https://www.publicationethics.org/files/2008%20Code%20of%20Conduct.pdf