ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขชุมชน: เปิดประตูสู่ชุมชนเป็นสุขอย่างยั่งยืนจังหวัดปทุมธานี

Authors

  • อัครนัย ขวัญอยู่ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • กฤษฎา แก้วเกลี้ยง โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
  • จุฬารัต ผดุงชีวิต นักวิชาการอิสระ

Keywords:

ความสุข, ชุมชน, ประชาธิปไตย

Abstract

          งานศึกษาชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาระดับความสุขของคนในชุมชนเป็นสุขอย่างยั่งยืนใน 3 ระดับ คือ ความสุขระดับบุคคล ความสุขระดับครอบครัว และความสุขระดับสังคม 2) เพื่อพยากรณ์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับระดับความสุขของคนในชุมชนเป็นสุขอย่างยั่งยืนใน 3 ระดับดังกล่าว และ 3) เพื่อสร้างตัวแบบเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อยกระดับความสุขของประชาชน โดยผู้วิจัยได้อาศัยระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Methodology) ในการศึกษา และดำเนินการเก็บข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ชุมชนคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,270 ราย โดยได้ผลการศึกษาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
          1) จากการเก็บข้อมูลความสุขทั้ง 3 ระดับ โดยใช้มาตรวัดที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้นจากแนวคิดทฤษฎีทางสังคมวิทยา พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ย “ความสุขระดับครอบครัว” สูงที่สุด รองลงมาเป็น “ความสุขระดับบุคคล” และ “ความสุขระดับสังคม” มีค่าคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด 2) จากการใช้สถิติพยากรณ์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสุขระดับต่างๆ เป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวแปรระดับ “ความคิดเห็นต่อการมีประชาธิปไตยในชุมชน” เป็นตัวแปรที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ กับตัวแปรความสุขทั้ง 3 ระดับ และความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ในทิศทางบวกทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรอายุ ระดับการศึกษา ระดับเงินออม ฯลฯ ที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยยะสำคัญกับระดับความสุขในบางด้าน และ 3) คณะผู้วิจัยได้เสนอตัวแบบเชิงนโยบายสำหรับยกระดับความสุขของประชาชนโดยใช้ประชาธิปไตยเป็นแกนกลาง โดยมีหลักการที่สำคัญ 4 ประการ คือ ธรรมาภิบาล ช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน การปลูกฝังค่านิยมความเป็นพลเมือง และนโยบายสาธารณะ ประกอบกัน

Downloads

Published

2018-12-19

Issue

Section

บทความวิจัย