ค่าตัวโรค โด๊ส และดีเอ็นเอ: การจัดการโรคพยาธิด้วยระบบเวชกรรมในสังคมอีสาน

Authors

  • ทุติยาภรณ์ ภูมิดอนมิ่ง ศูนย์การศึกษาบึงกาฬ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี

Keywords:

ค่าตัวโรค, โด๊ส, ดีเอ็นเอ, โรคยานุวัฒน์

Abstract

           บทความนี้ต้องการเสนอเกี่ยวกับองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่ส่งผลต่อการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ทางการแพทย์กับการปรุงกินอาหารวัฒนธรรมประเภทปรุงจากปลา อันถูกจัดวางอยู่ในวาทกรรมทางการแพทย์ว่าเป็นเหตุปัจจัยสำคัญทางสาธารณสุขในการเกิดโรคพยาธิในภูมิภาคอีสาน โดยมีค่าตัวเลขจากการสำรวจโรคอยู่ที่ 69.97% ของประชากรในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องการกินปลาคือมูลเหตุสำคัญของโรคพยาธิดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นได้ชัดอยู่ที่ปริมาณจุดทศนิยมของตัวโรคที่ปรากฏอยู่ในตัวปลาจนนำไปสู่ความจำเป็นต้องใช้ยาสมัยใหม่อย่างปราซิควอนเทลเพื่อการขับหรือฆ่าตัวพยาธิ อันทำให้สังคมไทยอีสานกลายเป็นสังคมแห่งวัฒนธรรมการกินยาฆ่าพยาธิใบไม้ตับตามโด๊ส (Dose) ของชุดความรู้ทางการแพทย์

           กล่าวได้ว่า การทำความเข้าใจต่อการปรากฏขึ้นของชุดความรู้ทางการแพทย์ที่เป็นระบบตัวเลขเป็นการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับมนุษย์และบริบทแวดล้อมที่วางอยู่บนความเป็นเหตุเป็นผลตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และมีสถาบันทางการแพทย์ที่เป็นเครื่องมือรับรองหลักที่หนักแน่น จนทำให้ค่าตัวเลขของตัวโรค และสถิติการก่อโรคถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนรูปแบบการรณรงค์ การป้องกันและการรักษาโรค หรือสถาปนาวัฒนธรรมการกินยาถ่ายหรือฆ่าพยาธิภายใต้ร่มเงาของสถาบันทางความรู้ความจริงทางการแพทย์ วิถีปฏิบัติดังกล่าวจึงเป็นสิ่งยืนยันถึงการทำงานบนเรือนร่างของคนไข้ โดยมีตัวเลขเป็นรูปธรรมในการสร้างความหมายเพื่อก่อเครื่องมือในการหนุน และเสริมสร้างบรรทัดฐานอันเป็นระเบียบ เพื่อการกำกับร่างกายของพลเมืองให้เชื่องสยบและเข้าสู่ลู่ปฏิบัติทางการแพทย์ในทุกมิติและทุกแง่ง่ามของชีวิต

Downloads

Published

2019-12-26

Issue

Section

บทความวิจัย