การจัดการเรียนรู้โดยใช้แผนที่ทางความคิดเพื่อพัฒนาความสามารถในการถ่ายโยง การเรียนรู้ของนักศึกษาครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิชาการศึกษาปฐมวัย

Main Article Content

ฐิติพร พิชญกุล

Abstract

            การศึกษาการจัดการเรียนรู้โดยใช้แผนที่ทางความคิดเพื่อพัฒนาความสามารถในการถ่ายโยงการเรียนรู้ของนักศึกษาครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิชาการศึกษาปฐมวัย มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1.เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการถ่ายโยงการเรียนรู้ของนักศึกษาครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิชาการศึกษาปฐมวัย ก่อนและหลังได้รับการจัดการเรียนรู้รายวิชาคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้แผนที่ทางความคิด (Mind Map)                 2.เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการถ่ายโยงการเรียนรู้ของนักศึกษาครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิชาการศึกษาปฐมวัย หลังการทดลองระหว่างกลุ่มที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้แผนที่ทางความคิด (Mind Map) กับกลุ่มที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยแบบปกติ

            กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ นักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชั้นปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 จำนวน 2 หมู่เรียน หมู่เรียนที่ 1 จำนวน 25 คน หมู่เรียนที่ 2 จำนวน 20 คน รวมทั้งสิ้น 45 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 1 กลุ่ม และกลุ่มควบคุม 1 กลุ่ม ซึ่งในการเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีสุ่มอย่างง่ายโดยการจับฉลากห้องเรียนเพื่อกำหนดเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลองได้รับการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้แผนที่ทางความคิด (Mind Map) และกลุ่มควบคุม ได้รับการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยแบบปกติ ใช้เวลาในการดำเนินการทดลองทั้งสิ้น 14 สัปดาห์ๆ ละ 3 คาบๆ ละ 50 นาที

            เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ 1.แผนการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้แผนที่ทางความคิด (Mind Map) และแผนการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยแบบปกติ 2.แบบทดสอบความสามารถในการถ่ายโยงการเรียนรู้ผู้วิจัยสร้างแบบทดสอบเป็น 2 ตอน คือ แบบทดสอบแบบเอกตอบหลายตัวเลือกที่มีค่าความเชื่อมั่น 0.88 และแบบทดสอบให้อธิบายด้วยคำถามปลายเปิดที่มีค่าความเชื่อมั่น 0.84 การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยการสุ่มและวัดก่อน-หลังการทดลอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐานและสถิติอ้างอิง

            ผลการวิจัยพบว่า

            1. นักศึกษาครุศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตรวิชาการศึกษาปฐมวัย ทีได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้แผนที่ทางความคิดมีความสามารถในการถ่ายโยงการเรียนรู้หลังการทดลองสูงขึ้นกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

               2. นักศึกษาครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิชาการศึกษาปฐมวัยที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้แผนที่ทางความคิดและนักศึกษาครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิชาการศึกษาปฐมวัยที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบปกติ มีความสามารถในการถ่ายโยงการเรียนรู้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01 และเมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่า

               1) ความสามารถในการถ่ายโยงการเรียนรู้ของนักศึกษาครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิชาการศึกษาปฐมวัยที่ไดรับการจัดการเรียนรู้รายวิชาคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้แผนที่ทางความคิด (Mind Map) สูงกว่านักศึกษาครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิชาการศึกษาปฐมวัยที่ได้รับการจัดการเรียนรู้รายวิชาคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยแบบปกติทั้งในภาพรวมและในรายละเอียด

               2) ความสามารถในการถ่ายโยงการเรียนรู้ใหม่กับความรู้เก่าหรือสถานการณ์เก่าสูงกว่าความสามารถในการถ่ายโยงการเรียนรู้ใหม่กับความรู้ใหม่หรือสถานการณ์ใหม่ ทั้งกลุ่มที่ได้รับการจัดการเรียนรู้รายวิชาคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยใช้แผนที่ทางความคิด (Mind Map) และที่ได้รับการจัดการเรียนรู้รายวิชาคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยแบบปกติ

Article Details

Section
บทความวิจัย