การอนุรักษ์และพัฒนาวัสดุทนไฟสำหรับสร้างเตาเครื่องปั้นดินเผามอญ เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

Main Article Content

กฤตยชญ์ คำมิ่ง
เกรียงศักดิ์ เขียวมั่ง

บทคัดย่อ

การอนุรักษ์และพัฒนาวัสดุทนไฟสำหรับสร้างเตาเครื่องปั้นดินเผามอญเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี       มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทท้องถิ่นและอนุรักษ์เตาเครื่องปั้นดินเผามอญ ทดลองหาอัตราส่วนผสมของวัสดุทนไฟ และสร้างเตาเครื่องปั้นดินเผามอญที่สามารถเผาผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับขนาดและจำนวนของผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน จากการเก็บข้อมูลพบว่ากลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผามอญเกาะเกร็ดมีขนาดของเตาเครื่องปั้นดินเผาที่ใหญ่ ใช้ระยะเวลาในการเผานาน รวมทั้งฟืนหายากเนื่องจากสภาพพื้นที่ที่เป็นเกาะกลางแม่น้ำ หากมีการสั่งฟืนมาจากนอกเกาะมาใช้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงจากการขนส่งทำให้ต้นทุนสูง   ตามไปด้วย อีกทั้งการสืบทอดกรรมวิธีการสร้างเตานับวันยิ่งลดลงเพราะเยาวชนรุ่นหลังหันไปประกอบอาชีพอื่นกันหมด ดังนั้นงานวิจัยนี้ จึงได้ทำการอนุรักษ์เตาเครื่องปั้นดินเผามอญแบบดั้งเดิมโดยคงเอกลักษณ์เฉพาะไว้ และได้ทำการวิเคราะห์หาวัสดุทนไฟที่มีความเหมาะสมสำหรับสร้างเตาโดยใช้ทฤษฏีตารางสามเหลี่ยมด้านเท่า (Triaxial Blend) เพื่อหาอัตราส่วนผสมจากจำนวน 36 สูตร เผาที่อุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส บรรยากาศการเผาแบบออกซิเดชั่น (Oxidation Firing) ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งผลการทดลองพบว่า สูตรที่ CF4 ประกอบด้วย ปูนซีเมนต์ร้อยละ 60 เซรามิกไฟเบอร์ร้อยละ 15 ทรายร้อยละ 15 และดินขาวร้อยละ 10 มีคุณสมบัติ                ทางกายภาพที่ดีคือแท่งทดลองไม่มีการแตกร้าวทั้งก่อนเผาและหลังเผา มีการหดตัวร้อยละ 2 มีความทนไฟและทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างฉับพลันได้ดี (Thermal Shock)  ผู้วิจัยได้ทดลองนำวัตถุดิบที่ผ่านการทดลองไปสร้างเตาและทดลองเผาผลิตภัณฑ์ตัวอย่างประเภทของที่ระลึกเป็นโอ่งขนาดเล็กที่มีความสูง 8 เซนติเมตร ความกว้าง 10 เซนติเมตร จำนวน 300 ใบ เผาที่อุณหภูมิ  850 องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการเผา 4 - 5 ชั่วโมง ผลการทดลองพบว่าเกิดรอยร้าวที่ก้นผลิตภัณฑ์ รอยร้าวที่ตัวผลิตภัณฑ์ และรอยด่างสีดำตรงพื้นผิวของผลิตภัณฑ์จำนวน 32 ใบ คิดเป็นของเสียร้อยละ 10.6 ผลิตภัณฑ์ที่มีความสมบูรณ์จำนวน 282 ใบ คิดเป็นร้อยละ 89.4

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ทวี พรหมพฤกษ์. (2525). เตาและการเผา. กรุงเทพฯ: กรมการฝึกหัดครู หน่วยศึกษานิเทศก์.

ไพจิตร อิ่งศิริวัฒน์. (2541). เนื้อดินเซรามิก. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

สุรัตน์ บัวหิรัญ. (2556, 1 พฤษภาคม). เลขานุการกลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี. สัมภาษณ์.

สุภรณ์ โอเจริญ. (2542). มอญในเมืองไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อลิสา รามโกมุท. (2542). เกาะเกร็ด: วิถีชีวิตชุมชนมอญริมน้ำเจ้าพระยา. กรุงเทพฯ: สมาพันธ์.

Rhodes, D. (1978). Pottery from. New Zealand: Piman Publishing.