EVOLUTION SPIRITUAL DEVELOPMENT OF BUDDHIST UNIVERSITY CURRENT CONDITIONS AND PROBLEMS DEVELOPMENT MODEL FOR THE SECURITY OF BUDDHISM SUSTAINABLE

Main Article Content

พระครูสุธีปริยัติโกศล โกศล

Abstract

สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศักราช 235 โดยประมาณ พุทธศาสนาเริ่มถูกเผยแผ่เป็นครั้งแรก พระองค์ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนา ครั้งที่ 3 เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ทรงส่งพระธรรมทูต 2 ท่าน คือพระโสณะและพระอุตตระ เดินทางสู่ดินแดนแถบนี้ที่เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” ณ ขณะนั้นคงมีชนเผ่ามากกว่า 7 ประเทศรวมกันเช่น ไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว และมาเลเซียโดยมีพวกละว้า และมอญโบราณอาศัยอยู่ แต่หลักฐานใน “หนังสือ 2,400 ปีในแหลมทอง” ได้แสดงไว้ว่า แท้จริงชนชาติไทยมีภูมิลำเนาดั้งเดิมอยู่ก่อน 2,000 – 3,000 ปีมาแล้ว ในบริเวณแหลมทองหรือสุวรรณภูมิ และนับว่าเป็นครั้งแรกของดินแดนนี้ที่ได้เริ่มนับถือพุทธศาสนา


            วิชาวิปัสสนากรรมฐานนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล เป็นหนทางเดียว และดำเนินไปโดยคนคนเดียว เกิดขึ้นและมีอยู่เฉพาะพุทธศาสนาหนึ่งเดียว โดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเอกบุคคลในโลกหนึ่งเดียวเท่านั้น และมีจุดมุ่งหมายเดียวคือ พระนิพพาน มีไวพจน์หรือคำต่างๆ เช่น วิปัสสนา มรรค อริยมรรคมีองค์ 8 เอกายะนะมัคฺโค สติปัฏฐาน 4 มรรคภาวนา กายภาวนา จิตภาวนา สติปัฏฐานภาวนา วิปัสสนากรรมฐาน หรือวิปัสสนาภาวนา โดยความหมาย คือ “การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามความเป็นจริง ได้แก่ หลักหรือวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งตามความเป็นจริงในขันธ์ 5 ว่า เป็นสภาวะที่ไม่เที่ยง “อนิจจัง” เป็นทุกข์ ทนได้ยาก “ทุกขัง” เป็นสภาวะที่ไม่ใช่บุคคล ตัวตน เราเขา บังคับบัญชาไม่ได้ เรียกว่า วิปัสสนา”


            ในสถาบันการศึกษาขั้นสูงของคณะสงฆ์ มี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เปิดสอนอย่างเป็นระบบในเวลาที่ไล่เลี่ยใกล้เคียงกัน ในยุคต้นๆ วิชาการพัฒนาจิตเปิดสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในชื่อว่า “วิชากรรมฐาน” แม้บางช่วงจะถูกตัดรอนเพราะการไม่เข้าใจของผู้บริหารเช่น สมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการในขณะนั้น เสนอว่าการปฏิบัติ วิปัสสนาธุระนั้นไม่ได้เป็นไปตามคำสอนในคัมภีร์วิสุทธิมรรค จึงเสนอให้ยกเลิกการสอนวิปัสสนาธุระของสายพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ประมาณ พุทธศักราช 2439 การปฏิบัติด้านวิปัสสนาธุระได้ขาดหายไปจากหลักสูตรการศึกษา ของคณะสงฆ์ไทย อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติกรรมฐานของคณะสงฆ์ก็ไม่ได้ขาดตอนจากคณะสงฆ์เพราะยังมีการประพฤติปฏิบัติกันในหมู่พระสงฆ์ทั้งในเมืองและชนบท


          พุทธศักราช 2538 มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้บรรจุวิปัสสนากัมมัฏฐานรูปแบบบริกรรม พุทโธ เป็นหลักสูตรการศึกษาและมีการปฏิบัติภาคบังคับ 15 วัน รับผิดชอบและสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติโดย พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ตวณฺโณ) และสืบต่อกันตลอดมาจนปัจจุบัน ที่ใช้ชื่อรายวิชานี้ว่า การพัฒนาจิต และมีการปฏิบัติเต็มรูปแบบ 15 วันก่อนจะจบการศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา ปัจจุบันวิชากรรมฐานมีชื่อว่า “การพัฒนาจิต” เป็นรายวิชาบังคับ เริ่มด้วย การพัฒนาจิต 1 – การพัฒนาจิต 4 แต่ในส่วนของวิทยาเขตในสังกัดบางแห่งก็ใช้ชื่อว่า การปฏิบัติกรรมฐาน 1-4 แต่โดยเนื้อหาสาระและจุดประสงค์แล้ว คือ อันเดียวกัน ต่างกันเพียงชื่อเรียกเท่านั้น

Article Details

How to Cite
โกศล พ. (2018). EVOLUTION SPIRITUAL DEVELOPMENT OF BUDDHIST UNIVERSITY CURRENT CONDITIONS AND PROBLEMS DEVELOPMENT MODEL FOR THE SECURITY OF BUDDHISM SUSTAINABLE. Journal of Yanasangvorn Research Institute Mahamakut Buddhist University, 9(2), 154–164. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/yri/article/view/173088
Section
Research Article