การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในชุมชนด้วยการจัดการท่องเที่ยวด้วยไมตรีจิต

ผู้แต่ง

  • เบญจมาศ อยู่ประเสริฐ รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาส่งเสริมเกษตร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • บำเพ็ญ เขียวหวาน รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาส่งเสริมเกษตร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • สุรีย์ เข็มทอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการจัดการ วิชาเอกการจัดการท่องเที่ยวและโรงแรม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • รสิกา อังกูร นักวิจัยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • วราภรณ์ ดำรงรัตน์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

คำสำคัญ:

การจัดการด้วยไมตรีจิต, การท่องเที่ยวในชุมชน, การมีส่วนร่วมของชุมชน

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ1).วิเคราะห์ภาพรวมสถานการณ์การท่องเที่ยวชุมชน และหาแนวทางในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2) เพื่อสร้างกระบวนการจัดการความรู้ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน อันจะทำให้บุคลากรในชุมชนได้ทราบ และเข้าใจในหลักการแนวทางการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism) และการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ตามมาตรฐานการบริการ7 ด้านได้แก่ ด้านบุคลากร ด้านที่พัก ด้านการบริการ ด้านความปลอดภัย ด้านอาหาร-เครื่องดื่ม ด้านของที่ระลึก และด้านความปลอดภัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษานี้คัดเลือกโดยวิธีการเจาะจงชุมชนที่มีการจัดบริการที่พักแบบโฮมสเตย์เพื่อการท่องเที่ยว ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1) ชุมชนบ้านริมคลอง ตำบลบ้านปรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม 2) ชุมชนท่องเที่ยวท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก และ 3) ชุมชนบ้านบุไทร ตำบลบุไทรอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา การดำเนินการวิจัยประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1) การวิเคราะห์สถานการณ์การท่องเที่ยวชุมชนแต่ละชุมชน 2) จัดเตรียมแนวทางการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนและการเป็นเจ้าบ้านที่ดี 3) การสร้างกระบวนการจัดการความรู้ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝึกทักษะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์และ 4) การประเมินผลองค์ความรู้ของชุมชนท่องเที่ยวที่นำไปสู่การพัฒนาชุมชนด้านการจัดการท่องเที่ยวด้วยไมตรีจิต เก็บรวบรวมข้อมูล โดยการสังเกต การสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เชิงลึก การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และการทำแบบสอบถามและนำข้อมูลมาวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา

ผลการศึกษา พบว่าความต้องการการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนด้วยการจัดการท่องเที่ยวด้วยไมตรีจิตของทั้ง 3ชุมชน มีความแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีการดำเนินการจัดการความรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วม ได้แก่การศึกษาสถานการณ์และความต้องการ การกำหนดวิธีการและออกแบบกิจกรรมพัฒนา การปฏิบัติการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมและการประเมินผลและสรุปบทเรียน โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นวงจรของการเรียนรู้ตลอดเวลา และใช้วิธีการจัดการความรู้ ที่หลากหลายวิธีการและบูรณาการเข้าด้วยกัน ทุกชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากกระบวนการจัดการความรู้ด้านการท่องเที่ยวด้วยไมตรีจิตใน 4 ประเด็น คือ 1) ชุมชนมีการนำแนวคิด และความรู้ด้านการบริหารจัดการมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน 2) มีการปรับปรุงและพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนให้มีมาตรฐานการบริการตามเกณฑ์การจัดการท่องเที่ยวด้วยไมตรีจิต 3) มีการสร้างเครือข่ายที่พร้อมจะขับเคลื่อนการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ทั้งภาครัฐ และเอกชน และ 4) ชุมชนเน้นให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมกิจกรรมของชุมชน ในการวางแผน การดำเนินการ และร่วมติดตามประเมินผล ข้อเสนอแนะของการศึกษาการขับเคลื่อนการจัดการท่องเที่ยวชุมชนด้วยไมตรีจิต ควรมีการดำเนินการเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง โดยชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการดำเนินการ

คำสำคัญ: การจัดการด้วยไมตรีจิต การท่องเที่ยวในชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชน

Downloads