รูปแบบโครงสร้างองค์การ การจัดการทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยี และการจัดการ ที่ทำให้สินค้าโรงเรียนประชารัฐสามารถจัดจำหน่ายได้

Main Article Content

Atchima Supachariyawat
Surat Supitchayangul
Taksaya Sangayotin

บทคัดย่อ

     การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) กำหนดรูปแบบโครงสร้างองค์การ 2) กำหนดรูปแบบการจัดการทรัพยากรมนุษย์ 3) กำหนดรูปแบบเทคโนโลยีที่นำมาใช้ และ 4) กำหนดรูปแบบการจัดการที่นำมาใช้ในโรงเรียนประชารัฐ ที่ทำให้สามารถจัดจำหน่ายสินค้าโรงเรียนได้ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพด้วยเทคนิคเดลฟาย โดยศึกษาผู้ให้ข้อมูลสำคัญ 4 กลุ่ม เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามปลายเปิดและแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า  5 ระดับ สถิติที่ใช้คือ ค่ามัธยฐาน และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ และยืนยันผลด้วยการสนทนากลุ่ม


     ผลการวิจัย พบว่า รูปแบบโครงสร้างองค์การ การจัดการทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยี และการจัดการที่จะทำให้สินค้าโรงเรียนประชารัฐสามารถจัดจำหน่ายได้ มีดังนี้ รูปแบบโครงสร้างองค์การของโรงเรียนประชารัฐเป็นแบบตามหน้าที่ ร่วมกับแบบคณะที่ปรึกษา การจัดการทรัพยากรมนุษย์ในด้านการสรรหาคัดเลือก ผู้อำนวยการในฐานะผู้บริหารสูงสุดจะทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือกคุณครูที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่าย โดยพิจารณาจากความสมัครใจ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องสินค้า และความรู้พื้นฐานในเรื่องการทำธุรกิจ ส่วนนักเรียนจะแบ่งเป็นฝ่ายคัดเลือกโดยคุณครูผู้จัดการฝ่าย ด้านการให้ผลตอบแทน เป็นแบบการให้ส่วนแบ่งจากการจำหน่ายสินค้า ด้านการบริหารผลการปฏิบัติงาน ได้แก่ การนำระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน และการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้านการฝึกอบรม ได้แก่ การนำวิทยากรที่มีความรู้และประสบการณ์ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาสอนหรือให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ และนำมาใช้ร่วมกับการฝึกอบรมในงาน รูปแบบเทคโนโลยีที่นำมาใช้ด้านการผลิตแบ่งตามลักษณะประเภทหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จำนวน 5 ประเภท ส่วนใหญ่มีลักษณะพื้นฐาน ไม่ซับซ้อน และคำนึงถึงความปลอดภัย ด้านการสร้างตราสินค้าใช้โปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด โปรแกรมโฟโต้ชอป และโปรแกรมไมโครซอฟท์พาวเวอร์พ้อยท์ ด้านการจัดเก็บข้อมูลและค้นหาข้อมูลของลูกค้า ใช้โปรแกรมไมโครซอฟท์เอ็กเซล และเพิ่มการลงทะเบียนข้อมูลออนไลน์ ด้านการโฆษณาและการติดต่อลูกค้า มีการสร้างเฟสบุ๊คแฟนเพจของโรงเรียน และสร้างกลุ่มไลน์ผู้ปกครองหรือเครือข่ายของโรงเรียน รวมทั้งมีการเพิ่มสื่อโฆษณาโดยการใช้แผ่นพับ วิทยุชุมชนหรือเสียงตามสาย รูปแบบการจัดการในด้านการจัดหาวัตถุดิบให้เริ่มต้นจากการปลูกหรือผลิตวัตถุดิบขึ้นเองที่จำเป็นในการจัดทำสินค้าโรงเรียน จากนั้นขยายไปยังวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน หรือท้องถิ่น รวมทั้งหาเครือข่ายจากโรงเรียนประชารัฐด้วยกันในการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบ ด้านการผลิตและการวางแผนกำลังคน ให้นักเรียนทุกชั้นปีสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการทำมาค้าขาย โดยจูงใจด้วยค่าตอบแทน และกรณีที่มีคำสั่งซื้อจำนวนมากให้ประสานงานชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิต ด้านการวางแผนการจัดจำหน่าย ให้ดำเนินการหาช่องทางการจัดจำหน่ายหลายๆ ช่องทาง และติดต่อประสานงานหน่วยงานอื่นเข้ามามีส่วนร่วม เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายโดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ และมีการจัดกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนประชารัฐด้วยกันในภูมิภาคต่างๆ และด้านบัญชี มีการบันทึกบัญชีครัวเรือนและบันทึกบัญชีโครงการสินค้าโรงเรียน

Article Details

บท
บทความวิจัย